แค่ปิ้งย่างไม่พอ! ‘อากะ’ ขอลงสนามหม้อร้อน เสิร์ฟชาบูอีกครั้ง ขยายฐานลูกค้า
สาวก "อากะ" ปิ้งย่างเตรียมพบโมเดลใหม่ร้าน "อากะ ชาบู" อีกครั้ง หลังลองตลาด 2 ปีก่อน ยังแจ้งเกิดไม่ได้ ขอลุยสาขาเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ให้บริการมิถุนายนนี้ เอาใจกลุ่มเป้าหมายรักสุขภาพ สายชื่นชอบหม้อร้อน พร้อมเป็นน่านน้ำใหม่สร้างรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท หนุนการเติบโตระยะยาว
หากกล่าวถึงร้านอาหารปิ้งย่างหรือ Yakiniku ขึ้นห้าง หนึ่งในแบรนด์ที่ผู้บริโภครู้จักอย่างดีคือ “อากะ”(AKA) ในเครือของเซ็นต์ คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ซึ่งเปิดให้บริการมากถึง 28 สาขาแล้ว
ทว่า ภาพปิ้งย่างของ อากะ กำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อแม่ทัพธุรกิจ บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เล่าถึงการปรับตัว เดินกลยุทธ์การตลาดครั้งสำคัญด้วยการขยายหมวดหมู่ใหม่ ลงสนามหม้อร้อนอย่าง “ชาบู”
“อากะ ชาบู”(AKA SHABU) ภาพใหม่แต่ใช้นามสกุลหรือแบรนด์เดิม เนื่องจากชื่อเสียงเป็นที่รับรู้(Awareness)แก่ผู้บริโภคอย่างดีในระดับหนึ่ง มีฐานลูกค้าที่เติบโตและทานอากะมาไม่น้อย
“บริษัทเคยทำเซอร์เวย์ ผู้บริโภคมองภาพแบรนด์อากะ 2 มุมคือบุฟเฟ่ต์กับปิ้งย่าง หรือเป็นแบรนด์ยากินิกุที่ 1 ในใจ ทีนี้เราเห็นโอกาสตลาด และตั้งโจทย์หากจะขยายอะไรที่เป็นบุฟเฟ่ต์ โดยใช้อากะ เป็นสัญลักษณ์ และรักษาสีแดงของแบรนด์ไว้”
ส่วนการเดิมเกมสู่สนาม “ชาบู” บุญยง เล่าว่า ธุรกิจร้านอาหารหลังเผชิญโควิด-19 ระบาดนั้นต้องปรับตัว สร้างโมเดลร้านเพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มีพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ทานอาหารนอกบ้านใหม่ๆ ยิ่งกว่านั้น หากมองฐานลูกค้าหลักของ “อากะ” ที่เคยนิยมชื่นชอบอาหาร “ปิ้งย่าง” แต่เมื่อเติบโตขึ้น ไม่เพียงมีรายได้เพิ่ม ทำให้เกิดการอัพเกรดร้าน และการรับประทานอาหาร
นอกจากนี้ การมีความรู้มากขึ้นจะระวังในการเลือกกินอาหาร รวมถึงมีความใส่ใจ “สุขภาพ” เป็นเงาตามตัว และผู้บริโภคที่เคยเป็นกินปิ้งย่างจึงเปลี่ยนไปทาน “ชาบู” มากขึ้นด้วย
หากมองพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มเซ็นฯ นอกจากมีปิ้งย่างอย่างอากะ เอาใจสาวกในวงกว้างแล้ว บริษัทยังมีร้าน “เทสซึ” เป็น Urburrn Yakiniku เสิร์ฟปิ้งย่างพรีเมียมตอบโจทย์ลูกค้ากำลังซื้อสูง ด้วยวัตถุดิบที่แตกต่าง รองรับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งตลาดปิ้งย่างนั้นมีหลาย Tier ให้ลูกค้าเลือกอร่อย เช่น ระดับราคา 200 บาท, 600 บาท ไปจนถึงพันบาท เป็นต้น
“ทำธุรกิจอาหารต้อง Right time จากร้านที่เคยจับกลุ่มเป้าหมายเด็ก ไปสู่ผู้ใหญ่ แบรนด์จะต้องมีร้านรองรับแต่ละช่วงวัย”
สำหรับผู้บริโภคที่เป็นสายปิ้งย่าง สายชาบู รู้ดีอยู่แล้วว่าการทานอาหารทั้ง 2 ประเภท แตกต่างกันสิ้นเชิง โดยปิ้งย่างนั้นหากไม่หมั่นพลิกดูอาหารสุ่มเสี่ยงวัตถุดิบไม่ว่าหมู เนื้อ อาหารทะเล ฯ ที่กำลังย่างอยู่จะ “ไหม้เกรียม” เอาง่ายๆ ซึ่งความเชื่อที่ติดหัวผู้บริโภคคือหากทานแล้วอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งเอย ไม่ดีต่อสุขภาพ อาหารไม่ชุ่มฉ่ำเหมือนกับต้มในหม้อร้อนบ้าง กลายเป็น Pain point สำหรับสายกิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการรับประทานอาหารเป็นเรื่องของ “จริต” ผู้บริโภคจริงๆ เพราะคนชอบปิ้งก็จริงจังกับปิ้งย่าง ส่วนสายหม้อต้มย่อมมุ่งไปที่ชาบู ถูกใจแบบไหนเลือกอร่อยได้เต็มที่
แต่หากมองตลาดปิ้งย่างและชาบูถือเป็นอีกหมวดที่ใหญ่มูลค่ารวมนับหมื่นล้านบาท! จึงต้องโดดเข้าไปชิงส่วนแบ่งให้ได้
อย่างไรก็ตาม การรุกชาบู ไม่ใช่ของใหม่สำหรับ “อากะ” เสียทีเดียว เนื่องจากบริษัทเคยทำตลาดมาแล้วเมื่อปี 2563 ที่เซ็นทรัล พลาซา สาขาบางนา โดยทดลองเปิดบริการแบบไฮบริดทั้งปิ้งย่างและชาบู แต่ผลตอบรับ ภาพของแบรนด์ชาบูยังไม่ชัดนัก เนื่องจากการนำเสนอยยังไม่โดดเด่น เพราะภาพลักษณ์ของร้านปิ้งย่างยัง “กลบ” ความเป็นร้านชาบู
เมื่อโยนหินถามทางและพบ “จุดอ่อน” ต้องแก้โจทย์ทันที บริษัทจึงเตรียมเปิดร้านชาบูอีกครั้ง รอบนี้เป็นการแยกออกมาจากอากะแบบเต็มตัว ประเดิมสาขาแรกที่เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และจะเปิดให้บริการช่วงเดือนมิถุนายน 2565 เพราะการสร้างและตกแต่งร้านต้องใช้เวลาราว 60 วัน
ชาบูหมากรบใหม่ของ “อากะ” ไม่เพียงตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไป แต่บริษัทยังมองเป็นจิ๊กซอว์สร้างรายได้ให้แตะระดับ 1,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งจะทำเงินใกล้เคียงแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น โดยปัจจุบันอากะสร้างรายได้ให้บริษัทราว 600-700 ล้านบาท
การปรับตัวของอากะยังสะท้อนถึงภาพใหญ่ของธุรกิจร้านอาหารที่ต้องพลิกโมเดล เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว หลังจากวิกฤติโควิด-19 เล่นงานให้ผู้ประกอบการเผชิญความยากลำบากยาวนานนับปี
“ธุรกิจร้านอาหารเจอแม่น้ำเปลี่ยนทิศ รอฝนไม่ได้ เราต้องหาร่องน้ำใหม่ สร้างน่านน้ำใหม่ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ทุกอย่างไม่กลับไปเหมือนเดิม ตลาดที่เคยชุ่นชื่นอยู่มา 30 ปี จากนี้จะเห็นการเปลี่ยนทิศ”