"กรุงไทย" ชี้ "เงินบาท" เสี่ยงอ่อนค่าแตะ 36บาท/ดอลลาร์
“กรุงไทย” คาดเงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์ หากจีน คุมโควิดไม่อยู่ฉุดเศรษฐกิจ ด้าน ธปท. พร้อมดูแลหากผันผวนผิดปกติ“บล.หยาวต้า”ชี้ ฟันด์โฟลว์ชะลอไหลเข้า แนะลงทุนหุ้นรับผลบวก “อิเล็กทรอนิกส์-เกษตร-ท่องเที่ยว”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า การกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ถือเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนในระยะ 1 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันฝั่งเงินบาทอ่อนค่าเพิ่มเติมเข้ามาจากในช่วงนี้ที่ทิศทางดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากตลาดกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.และ มิ.ย.นี้
ทั้งนี้หากจีนคุมโควิด-19 ไม่อยู่ คาดเศรษฐกิจจีนซบเซาหนักหรือตลาดเกิดใหม่ (EM) มีปัญหาเรื่องหนี้ ซึ่งมองว่าในช่วง 1 เดือนข้างหน้า มีโอกาสเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ ในเดือนพ.ค. แต่ยังเชื่อทางจีนจัดการได้ภาพเศรษฐกิจจีนไม่น่าเลวร้าย และคาดเงินบาทยังไม่หลุดแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ โดปิดตลาดวานนี้ 34.31 บาท อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี
นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าคาดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าอย่างต่อเนื่องและทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี ทำให้สกุลเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลง โดยตั้งแต่ต้นปี เงินบาทปรับอ่อนค่าลง 2.5% ขณะที่สกุลภูมิภาคอ่อนค่าระหว่าง 1% ถึง 5.5%
ทั้งนี้ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมดูแลหากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ โดยภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงิน ในสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า จากกรณีเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งปัจจุบันแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ ระยะสั้นก่อนประชุมเฟด คาดเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.5-35.00 บาทต่อดอลลาร์ และ มีโอกาสเห็นฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออก หลังแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเร็วและรุนแรงกว่าคาด จากภาวะเงินเฟ้อสูงของสหรัฐ และมาตรการ QT รวมถึงช่วงระยะสั้นที่ผ่านมามีการไหลออกของฟันด์โฟวล์จากเข้าสู่ช่วงจ่ายปันผลของบริษัทในตลาดหุ้นไทย
ทั้งนี้ จากการที่เงินบาทอ่อนค่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ ประกอบด้วย กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น HANA ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น GFPT ในขณะที่กลุ่มเสียประโยชน์จากเงินบาทอ่อน ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า เช่น GULF, BGRIM และ กลุ่มสายการบิน เช่น THAI , BA , AAV
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีที่เงินบาทอ่อนค่าปัจจุบันแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ ให้กรอบเงินบาทอยู่ที่ 34.4-34.8 บาทต่อดอลลาร์ คาดจะชะลอฟันด์โฟลว์ไหลเข้าแต่ไม่ถึงกลับไหลออก
ทั้งนี้ การที่บาทอ่อนค่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ กลุ่มสินค้าเกษตร ,ท่องเที่ยว เช่น GFPT , MBK ขณะที่กลุ่มเสียประโยชน์บาทอ่อน ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า เช่น BGRIM กลุ่มสายการบิน , กลุ่มไอที COM7