3 การไฟฟ้า ผนึก GWM ดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
3 การไฟฟ้า ผนึก เกรท วอลล์ มอเตอร์ ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ดันโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน สู้เป้าหมาย 30@30
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กับ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เพื่อมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า โดยนำความเชี่ยวชาญของเกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ผสานกับความเชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้าของ 3 หน่วยงาน เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ความน่วมมือนี้จะแสดงให้เห็นถึงบทบาทสําคัญของภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในไทยให้เอื้อต่อการจําหน่ายและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ครอบคลุม เพื่อมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป
นายไมเคิล ฉง รองประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้เป็นแบรนด์รถยนต์กลุ่มแรกที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลไทยเพื่อผลักดันนโยบายสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จะช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในแง่การดำเนินการสำรวจเชิงลึกเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า การแบ่งปันทักษะและความรู้ความชำนาญในการติดตั้ง รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และรูปแบบการบริการ
ซึ่งปี 2565 จะสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 55 แห่ง การร่วมมือกับการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงานนี้ จะช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม และบริษัทยังได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับกลยุทธ์ระดับภูมิภาค โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง และขยายตลาดเข้าสู่อาเซียน ส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ในอนาคตจะกับพันธมิตรอำนวยความสะดวกให้กับคนไทยในการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้า สำรวจรูปแบบ และโอกาสทางอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ของประเทศไทย รวมถึงการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบไฟฟ้ามาตลอด 52 ปี สนับสนุนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านรถยนต์ไฟฟ้าและด้านเครือข่ายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า พัฒนาแอปพลิเคชันแบ่งปันข้อมูล รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายที่จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้มีจำนวน 30% ของการผลิตทั้งหมดในปี 2573 ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศและปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันกฟผ. ได้เปิดให้บริการสถานี EleX by EGAT พร้อมสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้วจำนวน 49 สถานีทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT ให้มีจำนวนรวมกว่า 120 สถานีให้ได้ภายในสิ้นปี 2565 นี้ เพื่อครอบคลุมการเดินทางทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟน. ได้วางแผนปรับปรุงโครงข่ายระบบไฟฟ้าในพื้นที่จำหน่ายให้เป็นโครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Metro Grid) และมีแผนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมอำนวยความสะดวกในการให้บริการหัวชาร์จ MEA EV ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าผ่าน MEA EV Application ที่ได้มีพัฒนาการใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อผู้ใช้งานมากขึ้น เชื่อมต่อบนแพลตฟอร์มระบบบริหารจัดการเครื่องอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติที่เกี่ยวข้องกับการชาร์จ สำหรับวางแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าและการให้บริการ เป็นการส่งเสริมสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมยินดีให้ความร่วมมือเอกชนทุกภาคส่วนส่งเสริมดำเนินตามนโยบายภาครัฐต่อไป
นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวปิดท้ายว่า กฟภ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้าของไทยที่ให้บริการครอบคลุมทั้ง 75 จังหวัด ได้ขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าไปแล้ว 73 สถานี และมีแผนขยายจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มอีก 190 สถานี รวมเป็น 263 สถานี ภายในปี 2566 รวมถึงพัฒนาการใช้แอปพลิเคชัน PEA VOLTA Application ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาตำแหน่ง นำทาง สั่งชาร์จ ชำระค่าบริการ และตรวจสอบประวัติการใช้งาน ได้สะดวกยิ่งขึ้น เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะผลักดันประเทศไทยให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้เกิดสังคมสีเขียว สร้างงานสร้างอาชีพ ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับคนไทยต่อไป