จับสัญญาณส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ยังต้องลุ้นเม.ย. ยังไปต่อหรือไม่
ส่งออกทองคำเดือนมี.ค.พุ่งกว่า 1,000 % ดันอัตราการขยายตัว 19.5% และมูลค่าส่งออกไทยสูงในรอบ 30 ปี ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 บวกกับตลาดหลักของไทยเริ่มขยายตัวลดลง บ่งบอกสัญญาณภาวะการส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว
อย่าเพิ่งดีใจ ที่เห็นตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.2565 ขยายตัว 19.5% มีมูลค่า28,859.6 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติในปี 2534 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 8.9% โดยการส่งออกเดือนมี.ค.เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 เดือน
ปัจจัยที่ดันการส่งออกไทยขยายตัวต่อเนื่องมาจากความต้องการสินค้าทั่วโลกที่แข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศที่คลี่คลายลง นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 โดยการจ้างงาน และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเร่งตัวขึ้น บ่งชี้ว่าประเทศคู่ค้าสำคัญยังมีแนวโน้มเติบโต สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกรวมค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกน้อย ในขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปตลาดโลกได้มากขึ้น
ส่วนภาพรวม 3 เดือนแรกหรือไตรมาสแรกปี 2565 ขยายตัว 14.9% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยยังขยายตัว 8.7% ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกยังเป็นฟันเฟืองสำคัญช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการส่งออกไทยในเดือนมี.ค.จะขยายตัวต่อเนื่องจริงแต่หากดูลึกลงไปไม่ได้สะท้อนถึงภาวะการค้าที่แท้จริง เพราะอัตราที่ขยายตัวมาจากการส่งออกทองคำที่ไม่ขึ้นรูปขยายตัวถึง 1,046.7 % และคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ น้ำตาลทราย
แต่สินค้าหลักสำคัญของไทยทั้งยานยนต์ส่งออกลดลง 12.8 % รถยนต์นั่งลด 2.6 % รถปิกอัพ รถบรรทุก ลด 29% ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ลด 4.2 % ซึ่งเป็นการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง 3 เดือน ในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และสหรัฐ ส่วนเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ติดลบ 6.1% ถือเป็นกลับมาติดลบในรอบ 7 เดือน ในตลาดเวียดนาม ไต้หวัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย
ด้านตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว แม้จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในบางตลาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และการใช้มาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดมากขึ้นของจีน โดย ตลาดหลัก ขยายตัว12.7 %โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ 21.5% จีน 3.2% ญี่ปุ่น 1.0 % อาเซียน (5) 34.8 % CLMV 1.0% และสหภาพยุโรป (27) 6.9% ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 10.2 % ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ 36.4 % ตะวันออกกลาง 29.5% ลาตินอเมริกา 2.2% และทวีปแอฟริกา 4.8% ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัว 1.3 % และ 65.9% ตามลำดับ และ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว 1,411.6% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 2,865.2%
ส่วนการส่งออกไทยไปรัสเซียในเดือนมี.ค. หดตัวถึง 73% และส่งออกไปยูเครน หดตัวถึง 77.8% แต่ตลาดรัสเซียและยูเครน มีสัดส่วนการส่งออกของไทยแค่ 0.43% ของการส่งออกทั้งหมด
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สะท้อนมุมมองว่า ตัวเลขส่งออกเดือน มี.ค.2565 แม้มูลค่าการส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี แต่ สรท.กังวลการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เช่น การส่งออกยานยนต์เดือน มี.ค.ติดลบ 13% ในขณะที่การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าจากที่เคยโต 2 หลัก เดือนนี้กลับมาโตแค่หลักเดียว รวมทั้งยางพารากลับมาติดลบ 6% จากผลผลิตที่ลดลง
ส่วนตลาดส่งออกหลักของไทยส่งออกขยายตัวลดลง เช่น จีน 3% , ญี่ปุ่น 1% , อียู 6.9% ซึ่งต่างจากเดือน ก.พ.ที่ขยายตัวมาก จึงต้องจับตาการส่งออกเดือน เม.ย.นี้
แม้การส่งออกมี.ค.จะมีอัตราการขยายตัวดี และมูลค่าที่สูงสุดในรอบ 30 ปี แต่การส่งออกเดือนนี้ได้รับอานิสงค์จาการส่งออกทองคำซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง แต่หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวได้เพียง 8.9 % ส่วนสินค้าที่เป็นเช็คเตอร์หลักของไทยกลับส่งออกลดลงต่อเนื่อง ถือเป็นการการส่งสัญญาณการส่งออกของไทยที่เริ่มชะลอตัวลงจากผลกระทบทางอ้อมของสงครามรัสเซียและยูเครนที่ฉุดเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐ
ขณะที่ตลาดจีนที่ขณะนี้กำลังมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องใช้มาตรการ Zero-Covid ล็อคดาวน์เมืองเซียงไฮ้และอาจลามไปยังเมืองอื่นๆ ซึ่งหากผลกระทบขยายวงกว้างก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยเพราะจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก และยังเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยได้ คงต้องจับการภาวะการส่งออกของไทในเดือนเม.ย.ว่า จะเป็นอย่างไรซึ่งก็น่าจะเป็นภาพของการส่งออกที่แท้จริงของไทย