ทำไมไทยต้องเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” 300 บาท แล้วประเทศอื่นจัดเก็บกันเท่าไร?

ทำไมไทยต้องเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” 300 บาท แล้วประเทศอื่นจัดเก็บกันเท่าไร?

อ่านสรุปที่นี่! ทำไม "ไทย" ต้องจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คนละ 300 บาท รัฐนำเงินที่ได้ไปทำอะไรบ้าง แล้วประเทศอื่นเขาจัดเก็บกันเท่าไร กระทรวงท่องเที่ยวฯแจงยิบ ก่อนชง ครม.เคาะสัปดาห์หน้า พร้อมประกาศใช้ภายใน 90 วันนับจากวันอนุมัติ รับเปิดประเทศ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” อัตราคนละ 300 บาทนั้น เบื้องต้นกระทรวงฯจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า วันที่ 3 พ.ค.นี้ หากได้รับการอนุมัติ พร้อมประกาศใช้ภายในอีก 90 วันถัดจากนั้น

 

ท่องเที่ยวฯยันเก็บค่าเหยียบแผ่นดินอัตรา 300 บาท ใกล้เคียงกับทั่วโลก

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวยืนยันว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว และอัตราการจัดเก็บที่คนละ 300 บาทถือว่าใกล้เคียงกับราคาตลาด

“สิ่งที่จะต้องทำมากที่สุดตอนนี้คือการเร่งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใจว่า ภาษีที่นักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายให้กับประเทศไทยผ่านการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศ จะได้คืนในรูปแบบของกรมธรรม์คุ้มครองอุบัติเหตุ ซึ่งความคุ้มครองจะไม่น้อยกว่าช่วงที่ผ่านมาแน่นอน”

สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นของการคุ้มครอง จะครอบคลุมทั้งอุบัติเหตุ การก่อการร้าย และเสียชีวิต แบ่งเป็นการคุ้มครองเกี่ยวกับอุบัติเหตุ จ่ายจริงไม่เกิน 500,000 บาท การเคลื่อนย้ายนักท่องเที่ยวกลับประเทศต้นทางไม่เกิน 500,000 บาท เยียวยาหรือฟื้นฟูสภาพจิตใจจากการก่อการร้ายหรือการถูกทำร้ายร่างกาย ไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน และการปลงศพ ไม่เกิน 150,000 บาท

แจงวัตถุประสงค์ เยียวยาทัวริสต์เกิดอุบัติเหตุ ดูแลแหล่งเที่ยวเสื่อมโทรม

สำหรับวัตถุประสงค์ของการเก็บค่าธรรมเนียมฯเข้าประเทศไทยมี 4 ข้อหลักด้วยกัน ดังนี้

1.เป็นงบประมาณแผ่นดินในการดูแลเยียวยานักท่องเที่ยวที่เกิดอุบัติเหตุ และเพื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

2.เพื่อใช้จ่ายในการให้บริการด้านสาธารณสุขกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แสดงถึงค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ารับบริการจากสถานพยาบาลภาครัฐ ค้างจ่ายเงินเป็นจำนวนมาก

3.เพื่อให้มีงบประมาณในการดูแลแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดความเสื่อมโทรม รวมทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัย และเพื่อการท่องเที่ยวของคนทั้งมวล โดยยึดหลักการผู้ใช้งานเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle : PPP) ซึ่งกำหนดให้ผู้ใช้ทรัพยากรเป็นผู้รับผิดชอบในความเสื่อมโทรมจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

4.เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การพัฒนาทักษะด้านการบริหาร การตลาด หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน การดูแลรักษาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว การส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยวใหม่ๆ ในท้องถิ่น รวมทั้งการจัดให้มีประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศ

ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมฯที่จัดเก็บได้ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะนำไปพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวของประเทศ และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปจัดหาประกันภัยให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระหว่างการท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านการดำเนินงานของกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยต่อไป โดยระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติภายในประเทศไทย 1 ระบบ จะรองรับการเก็บผ่าน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การเก็บผ่านบัตรโดยสารเครื่องบิน และ 2.เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น หรือตู้คีออส (Kiosk)

นายโชติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้รายละเอียดของการดำเนินการได้ผ่านการเห็นชอบจากบอร์ดบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย และคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) แล้ว อยู่ระหว่างการนำรายละเอียดเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จะต้องนำประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะมีผลบังคับใช้ โดยเบื้องต้นมีเวลา 3 เดือน หรือ 90 วัน ก่อนใช้จริง

ทั้งนี้มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการเริ่มต้นคือ การลงทะเบียนสายการบินภายใน 15 วัน และสายการบินที่ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะต้องจัดฝึกอบรม และแนะนำการใช้งานระบบ TTF System หรือระบบที่ใช้ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศ ทั้งการใช้งาน การพัฒนาระบบเชื่อมต่อ และการทดสอบข้อมูล Final Passenger เชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน เมื่อถึงวันที่ 91 จะเป็นการเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวฯ อย่างเป็นทางการ

 

ส่องตัวอย่าง 11 ประเทศทั่วโลกเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยว

รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยว มากกว่า 40 เมือง/ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยถือเป็น “ประเทศแรกของโลก” ที่เก็บค่าธรรมเนียมแล้วมีการให้สวัสดิการคืนแก่นักท่องเที่ยวผ่านประกันอุบัติเหตุ

สำหรับตัวอย่างของรายชื่อประเทศที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวมีดังนี้

1.ภูฏาน

ชื่อ:  Tourist Tax

วัตถุประสงค์: จำกัดจำนวนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

อัตรา: 200 หรือ 250 ดอลลาร์สหรับ/คน/คืน

 

2.ญี่ปุ่น

ชื่อ: Sayonara Tax

วัตถุประสงค์: พัฒนาการท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก

อัตรา: ประมาณ 9.25 ดอลลาร์สหรัฐ

 

3.มาเลเซีย      

ชื่อ: Tourist Tax

วัตถุประสงค์: พัฒนาการท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก

อัตรา: ประมาณ 2.45 ดอลลาร์สหรัฐ/คืน

 

4.อินโดนีเซีย (บาหลี)

ชื่อ: Departure Tax / Local Development Tax

วัตถุประสงค์: พัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวและชุมชน

อัตรา: 10 ดอลลาร์สหรัฐ/คน

 

5.นิวซีแลนด์

ชื่อ: Tourist Tax

วัตถุประสงค์: อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยว

อัตรา: 23.94 ดอลลาร์สหรัฐ/คน

 

6.ฝรั่งเศส

ชื่อ: Taxe de Sejour

วัตถุประสงค์: ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นที่พอใจแก่นักท่องเที่ยว

อัตรา: เฉลี่ย 5.71 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน (หลายอัตรา ขึ้นอยู่กับสถานที่)

 

7.เยอรมนี

ชื่อ: Culture Tax และ Bed Tax

วัตถุประสงค์: เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมทางการท่องเที่ยว

อัตรา: เฉลี่ย 5.71 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน (หรือ 5% ของค่าโรงแรม)

 

8.สเปน

ชื่อ: Tourist Tax

วัตถุประสงค์: เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและใช้เพื่อการพัฒนาและรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง

อัตรา: 2.85 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน (ไม่เกิน 7 คืนต่อคน)

 

9.สวิตเซอร์แลนด์

ชื่อ: Tourist Tax

วัตถุประสงค์: การพัฒนาการท่องเที่ยวและภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว

อัตรา: 2.85 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน (แตกต่างกันไปตามประเภทของที่พัก)

 

10.กรีซ

ชื่อ: Stayover Tax

วัตถุประสงค์: เพื่อรักษาแหล่งโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง

อัตรา: 4.57 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/คืน

 

11.สหรัฐอเมริกา

ชื่อ: Occupancy Tax

วัตถุประสงค์:    -

อัตรา: 16.25% ของค่าโรงแรมและที่พัก (แตกต่างกันตามรัฐ)