โฆษณา “ซีเกมส์” กร่อย! แบรนด์หงอย ออกตัวเกาะกระแสช้า
นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน มหกรรมกีฬาของชาวอาเซียนอย่าง “ซีเกมส์” กำลังจะเริ่มต้น โดยซีเกมส์ครั้งที่ 31 จัดขึ้น ณ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 12-23 พฤษภาคม 2565 แต่การแข่งขันเริ่มล่วงหน้า แม้กีฬาใหญ่แต่โฆษณาเงียบเหงา มีเพียงสปอนเซอร์หลัก อายิโนะโมะโต๊ะ คิกออฟอิงกระแส
ปีนี้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจหลากช่องทำหน้าที่ถ่ายทอดสด ได้แก่ ช่องNBT ช่อง 3 HD ช่อง7 HD ช่อง9 MCOT HD ช่องGMM25 และพีพีทีวี ซึ่งประเดิมการแข่งขันนัดแรกคือฟุตบอลระหว่างทีมชาติไทย VS มาเลเซีย วันที่ 7 พฤษภาคมนี้
นอกจากการแข่งขันกีฬาที่ทุกคนรอคอยตามลุ้นตามเชียร์นักกีฬาทีมชาติไทย ในแวดวงสื่อ “งบโฆษณา” ที่จะสะพัด เป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะนี่คือหนึ่งในปัจจัยหนุนให้อุตสาหกรรมมีความคึกคักมากขึ้น
ทั้งนี้ หากดูจอแก้ว จะเห็นว่าแบรนด์ที่คิกออกยิงสปอตทางโทรทัศน์ มีเพียง “อายิโนะโมะโต๊ะ” ที่ออกสตาร์ท ในฐานะเป็นผู้ร่วมสนับสนุนหลักระดับสูงสุดอย่างเป็นทางการ ผ่านบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ โค., อินค์. ประเทศญี่ปุ่น
แบรนด์เริ่มออกตัวสื่อสารการตลาดแล้ว ช้าไปหรือไม่ เพราะการแข่งขันจะเริ่มในไม่กี่วัน ประเด็นนี้ ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด ให้มุมมองว่า ปกติโฆษณาเกาะกระแสซีเกมส์จะเริ่มต้นล่วงหน้า 30-45 วัน การที่เพิ่งเห็นแบรนด์ยิงสปอตช่วงที่ผ่านมา ถือว่าค่อนข้าง “ช้า”
ซีเกมส์ครั้งที่ 31 เป็นอีกมหกรรมกีฬาที่ถูกเลื่อนจัดจากปี 2564 เป็นปีนี้ เดินตามรอยโตเกียว โอลิมปิก เพราะพิษสงโควิด-19 ระบาด
ขณะที่ความสนใจของซีเกมส์ แนวโน้มดูเบาบางลง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป จากเคยสนใจจอแก้ว ไปเป็นมือถือ อุปกรณ์อื่นๆ เพื่อรับชมคอนเทนท์มากขึ้น แต่ทั้งนี้ ยิ่งใกล้วันแข่ง ต้องดูสถานการณ์อีกทีจะเป็นอย่างไร
ด้านเม็ดเงินโฆษณารับซีเกมส์ ภวัต มองว่ายังไม่คึกคักมากนัก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าแบรนด์ นักการตลาด ไม่สนใจเทเงิน แต่เพราะในห้วงเวลาเดียวกัน มีประเด็นอื่นที่ได้รับความสนใจ เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพ เป็นต้น
“ซีเกมส์ยังไม่เห็นการใช้งบโฆษณาร้อนแรง แต่มีประเด็นอื่นที่นักการตลาดสนใจ จึงต้องมอนิเตอร์ต่อ เพื่อวิเคราะห์งบโฆษณาซีเกมส์อีกครั้ง”