กฟผ.-บิ๊กคอร์ป หนุนพลังงานหมุนเวียน ดันไทยสู่ Net Zero
กฟผ. ชูตลาดซื้อขายเครดิตพลังงานหมุนเวียนหนุนไทย Net Zero ระบุ 6 เอกชนรายใหญ่โดดร่วมตลาด REC กับกฟผ.แล้วกว่า 2.6 ล้านเมกะวัตต์ชั่วโมง
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานแห่งอนาคต เดินหน้าสนับสนุนตลาดซื้อขายเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificate: REC หนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนให้บรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกพยายามคิดและหามาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจังในเรื่องการลดโลกร้อน และหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยได้ คือ กลไกใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ REC คือ ใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ การเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน REC เปรียบเหมือนเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนองค์กรและภาคธุรกิจให้สามารถบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานสีเขียวเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างรายได้เพิ่มในรูปแบบ REC อีกทางหนึ่ง
ในปี 2563 ตลาดการซื้อขายเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมาก โดย กฟผ. ได้รับสิทธิจาก The International REC Standard (I-REC) ประเทศเนเธอร์แลนด์ให้เป็นผู้รับรอง REC แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยกฟผ. และบริษัทในเครือ จึงเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาตลาด REC ให้ยั่งยืน เตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ให้บริการซื้อขายและรับรองเครดิต REC อย่างครบวงจร เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของพลังงานสีเขียวในประเทศไทย และรองรับกลุ่มบริษัท RE100 ที่จะมาลงทุนในประเทศไทย
โดยในขณะนี้ กฟผ. ได้สนับสนุนการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนด้วยกลไก REC ให้กับบริษัทพันธมิตรต่างๆ ไปแล้ว 6 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด 2. บริษัท บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด 3.บริษัท บางกอก คราฟท์ โปรดักชั่นส์ จำกัด 4. บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และ 5. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ 6. บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด รวมความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนกว่า 2,660,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง (kWh)
“ทั้งหมดเป็นบริษัทชั้นนำที่ให้ความสนใจในการใช้พลังงานหมุนเวียน และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก"