"เงินเฟ้อ" ดันต้นทุนพุ่ง รร.อ่วม ปรับค่าห้องยาก ฝ่าด่านแข่งขัน "เปิดประเทศ"
“สมาคมโรงแรมไทย” เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน เม.ย.65 กว่า 50% โดน “เงินเฟ้อ” เล่นงานอ่วม ดันต้นทุนพุ่ง โดยเฉพาะราคาสินค้าและวัตถุดิบ ปรับขึ้นราคาห้องพักได้ยากจากการแข่งขันสูง ประชาชนบางส่วนลดการท่องเที่ยวในประเทศกับการทำกิจกรรมนอกบ้าน
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน เม.ย.2565 จัดทำโดยสมาคมฯกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจระหว่างวันที่ 8-26 เม.ย.2565 มีผู้ประกอบการที่พักแรมตอบแบบสำรวจ 88 แห่ง (เป็น AQ 8 แห่ง Hospitel 3 แห่ง) พบว่า เดือน เม.ย.มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 34% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน มี.ค.ที่ 33% ตามการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทยในช่วงวันหยุดสงกรานต์ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ และการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะโรงแรมในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลาง
ส่วนอัตราการเข้าพักเดือน พ.ค.นี้ มีแนวโน้มสูงขึ้นจาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ประกอบกับล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีผลเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2565 เป็นต้นไป เริ่มต้นเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการยกเลิกระบบ Test & Go เปลี่ยนเป็นการตรวจ ATK ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวสะดวกรวดเร็วขึ้น ถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้การท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเดินหน้าต่อไปอีกครั้ง
“โรงแรมกว่าครึ่งหนึ่งได้รับผลกระทบมากจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าและวัตถุดิบ ขณะที่ปรับขึ้นราคาห้องพักได้ยากจากการแข่งขันที่สูงขึ้น และประชาชนบางส่วนลดการท่องเที่ยวในประเทศกับการทำกิจกรรมนอกบ้าน มีเพียง 12% ได้รับผลกระทบมากจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน”
โดยปัจจุบันมีโรงแรมกว่า 80% เห็นลูกค้าบางส่วนยกเลิกการจองห้องพัก ส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และผลกระทบความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ดี อัตราการยกเลิกการจองห้องพักในเดือน เม.ย. ลดลงจากเดือนก่อน และส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกการจองน้อยกว่า 25% ของยอดจองทั้งหมด
นางมาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านสถานะกิจการ จากข้อมูลสรุปผลสำรวจในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าโรงแรม 78% เปิดกิจการปกติ ใกล้เคียงเดือน มี.ค. โดยโรงแรมที่เคยปิดกิจการหรือเปิดบางส่วนกลับมาเปิดให้บริการมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนโรงแรมที่เปิดกิจการมากกว่า 50% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หลังมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศเพิ่มเติมในเดือน เม.ย. และรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ส่วนเรื่องรายได้ พบว่าเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โรงแรมส่วนใหญ่ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 โดยราวครึ่งหนึ่งมีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% ใกล้เคียงเดือน มี.ค. ขณะที่โรงแรมที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่งมีสัดส่วนเพียง 14% ส่วนหนึ่งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น แต่ความไม่สมดุลของยอดการจองคงยังมีอยู่
สภาพคล่องเดือน เม.ย. โรงแรม 45% มีสภาพคล่องใกล้เคียงกับเดือนก่อน และ 44% มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน เป็นสัดส่วนใกล้เคียงเดือนก่อน สำหรับกลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือนมีสัดส่วนอยู่เพียง 8% ลดลงจากเดือนก่อน ขณะที่มีโรงแรมที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 26% โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักมากกว่า 40% จากทั้งโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
ทั้งนี้โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 60.5% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนหนึ่งจากพฤติกรรมการจองโรงแรมแบบนาทีสุดท้าย (Last Minute) ทำให้โรงแรมส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมการจ้างงานไว้ล่วงหน้า ประกอบกับแรงงานบางส่วนลาออก หรือกลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายก THA กล่าวเพิ่มว่า มาตรการช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ โรงแรมส่วนใหญ่ต้องการมาตรการลดหย่อนภาษี และค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะขยายระยะเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากรายได้ของธุรกิจยังไม่กลับมาปกติ ขณะที่ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เท่าเดิม
โดยโรงแรมต้องการมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ลดค่าสาธารณูปโภค ลดต้นทุนการกู้ยืม และเงินสนับสนุนค่าจ้างพนักงาน (ปัจจุบันโรงแรมส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและมีการแข่งขันแย่งแรงงานที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะ SMEs) นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐขยายมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอีกอย่างน้อย 1 ไตรมาส และอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงระบบการเงิน ช่วยสนับสนุนสำหรับปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้สะอาดและปลอดภัยรองรับการเปิดประเทศ หรืออาจให้เอกชนรายใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา