ครม.ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม เปิดช่องกู้เงินออมชราภาพ แก้หนี้นอกระบบ
"สุชาติ" เผย ครม.เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม 3 ขอ เปิดช่องใช้เงินกองทุนฯค้ำประกันกู้เงินสถาบันการเงิน พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์หลายด้าน ขยายอายุผู้ประกันตนไปถึง 65
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคม (ฉบับที่..)พ.ศ. ..กรณีเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพออกใช้ก่อนได้ ว่า กองทุนประกันสังคมเป็นไตรภาคี ระหว่างรัฐบาล นายจ้าง และ ลูกจ้าง ซึ่งในส่วนแก้ไขเพิ่มเติม ข้อแรกข้อคือ ขอเลือก ซึ่งเรามีกองทุนชราภาพ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ต้องรอส่งเงินเกิน 180 เดือน หรือ อายุ55 ปีจึงจะได้เป็นบำนาญ แต่ใครส่งไม่ถึงจะได้บำเหน็จ กลายเป็นไม่มีประตูให้เขาได้เลือก เราจึงแก้ให้สามารถเลือกได้คือพออายุ 55 ปี ครบกำหนดเกษียณ หากมีหนี้สินต้องใช้เงินก้อนให้เขาสามารถเลือกได้ว่าจะเอาบำเหน็จหรือบำนาญ
ส่วนเรื่องบำนาญเรานำเข้าครม.ไปเมื่อเดือนที่แล้ว เช่นผู้ประกันตนอายุ 55 แต่สมมุติว่าอายุ56ปี เสียชีวิต จะได้สิบเท่า ซึ่งไม่คุ้มค่ากับเงินที่เขามีอยู่ แต่เราแก้ให้เป็นหากอายุ 55 ปี แล้วเสียชีวิตอายุ 56 ปีเราการันตีให้ อีก4 ครบให้อายุครบ 60ปี เงินจะตกถึงลูกหลานเขา
นายสุชาติ กล่าวว่าในส่วนที่สองคือขอกู้ หากเราตรวจสอบดูว่าเรามีเงินชราภาพขอยกตัวอย่างว่ามีเงินอยู่ แต่เราไม่มีเงินสด ไม่มีเครดิตจะไปกู้สถาบันการเงินโดนถ้าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่าน ผู้ประกันตนสามารถไปกู้สถาบันการเงิน โดยกระทรวงแรงงานจะใช้สิทธิ์ในเงินชราภาพไปค้ำประกันได้ เปรียบกับผู้ประกันตนมีหลักทรัพย์ใช้ค้ำประกันได้ชัวร์ยิ่งกว่าที่ดิน ก็คือเงินที่หักไปให้ประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องใช้เงิน เราก็ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ
นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการ ขอคืน สามารถนำเงินกรณีชราภาพที่สมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนมาบางส่วน ในส่วนนี้มีข้อห่วงใยจากนักวิชาการว่าการนำเงินออกมาใช้ก่อนจะกระทบทำพให้เสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง ตนขอชี้แจงว่า การขอคืนไม่ใช่จู่ๆจะขอคืนได้เลยแต่ต้องเกิดวิกฤติเช่นสถานการณ์โควิด ถูกล็อกดาวน์ และเป็นวิกฤติของโลก เราจึงออกเป็นกฎหมายนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งเราจำเป็นต้องทำเรื่องนี้เพราะกฎหมายประกันสังคม 33 ปีไม่เคยแก้ไขและไม่เคยแก้ปัญหาในยามจำเป็น ทุกคนที่มาบริหารคิดอย่างเดียวว่ากองทุนต้องให้คงไว้ ซึ่งความจริงกองทุนนั้นคงไว้อยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกันตนมีประตูปิดเปิดหลายๆประตู
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้) รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น อาทิ เพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ จากร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เพิ่มจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิม 90 วันเป็น 98 วัน เป็นต้น รวมทั้งแก้ไขขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิม "อายุ 60 ปีบริบูรณ์ " เป็น "อายุ 65 ปีบริบูรณ์"
1. การปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืนและขอกู้ )ดังนี้
-กรณีให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก) / กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน) และ/ กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)
2. การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น
- ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง
- ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร เพิ่มระยะเวลาในการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรโดยเหมาจ่ายในอัตราครั้งละร้อยละ 50 ของค่าจ้างจากเดิมเป็นระยะเวลา 90 วันเป็นระยะเวลา 98 วันหรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรโดยให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน
ทั้งนี้ การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุจะได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบสามารถ เลือกเข้าถึงแหล่งเงินฉุกเฉินได้เพิ่มเติมโดยใช้เงินกรณีชราภาพที่ตนจะได้รับในอนาคตเป็นเงินทุนแต่จะทำให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนเอามาใช้ก่อนขอเลือกขอคืนและขอกู้ อาจทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงทางเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง แต่จะช่วยให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายลดลงในระยะยาว
"การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันรวมทั้งเป็นการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเพื่อให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมสร้างหลักประกันทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นกับผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบประกันสังคมด้วย" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว