24 ล้านคน เฮ! ลดเงินสมทบ "ประกันสังคม" ม.33 ม.39 ม.40
24 ล้านคน เฮ! ลดจ่ายเงินสมทบ "ประกันสังคม" ม.33 ม.39 ม.40 มีผลบังคับแล้วถึงเดือนกรกฎาคม 2565 แต่ยังได้รับการคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์ทดแทนเช่นเดิม
อัปเดตมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดมาตรการลดเงินสมทบ "ประกันสังคม" ทั้งในส่วนของนายจ้าง และ ผู้ประกันตนทุกมาตรา ม.33, ม.39 และ ม.40 เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 ได้แก่
1. ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบ จากร้อยละ 5 ของค่าจ้าง เหลือ ร้อยละ 1 ของค่าจ้าง ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานค่าจ้าง 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสมทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพ ไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน
2. ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบ จากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 คือจากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
3.ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.7 ล้านคน ได้ขยายระยะเวลาลดเงินสมทบเป็นเวลา 6 เดือนตั้งแต่ ก.พ.- ก.ค. 2565 ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ก็ได้เผยแพร่อัตราเงินสมทบในส่วนของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ อัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนกับรัฐบาลลดลง ใน 3 ทางเลือก คือ
- ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาท รัฐบาลลดเงินสมทบจาก 30 บาท เหลือ 21 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย
- ทางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท รัฐบาลลดเงินสมทบจากเดือนละ 50 บาท เหลือ 30 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ
- ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท รัฐบาลลดวงเงินสมทบจาก 150 บาท เหลือ 90 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนทุกกลุ่ม "ประกันสังคม" ม.33 ม.39 ม.40 รวมเกือบ 24 ล้านคน ยังได้รับการคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์ทดแทนเช่นเดิม
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์