"เงินชราภาพ" ใช้ได้เมื่อไร? เมื่อ "ประกันสังคม" อัปเกรดใหม่เพิ่มสิทธิ ม.33
ครม. ไฟเขียวปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ "ประกันสังคม" ให้ผู้ประกันตน ม.33 ชวนเช็กเกณฑ์ "เงินชราภาพ" ปรับใหม่ให้สิทธิ "3 ขอ" ขอเลือกบำเหน็จ/บำนาญ, ขอคืนเงินสะสมชราภาพ, ขอกู้เงิน พร้อมรู้สิทธิประโยชน์อื่นๆ เช็กที่นี่
หลังจาก ครม. ไฟเขียวให้มีการปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์ใน ร่าง พ.ร.บ. "ประกันสังคม" อัปเกรดใหม่ ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยปรับเกณฑ์การจ่าย "เงินชราภาพ" ให้ได้สิทธิยาวนานมากขึ้น รวมถึงให้สิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มอีกหลายรายการ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเช็กลิสต์การเพิ่มเติมสิทธิ "ประกันสังคม" ดังกล่าว สรุปมาให้รู้ชัดๆ อีกครั้ง โดยหนึ่งในสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับนี้ คือการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- "เงินชราภาพ" ประกันสังคม ม.33 เตรียมเบิกใช้ก่อนได้ เปิดวิธีเช็กยอด ทำอย่างไร
- ครม.ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม เปิดช่องกู้เงินออมชราภาพ แก้หนี้นอกระบบ
- ผู้ประกันตน เฮ! ครม.อนุมัติหลักการ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เช็กเลย
- เช็ก ประกันสังคม ม.40 มี 3 ทางเลือกจ่ายเงินสมทบ แนะรับเงินคืนส่วนที่จ่ายเกิน
- ขยายฐานอายุขั้นสูงการจ่าย "เงินชราภาพ"
อีกหนึ่งการปรับปรุงเกณฑ์ใหม่ที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ มีการแก้ไขขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้าง จากเดิม "อายุ 60 ปีบริบูรณ์ " ให้เป็น "อายุ 65 ปีบริบูรณ์"
อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ และขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้
- ปรับเกณฑ์ "เงินชราภาพ" ใช้หลัก 3 ขอ
กำหนดให้ผู้ประกันตนมีโอกาสเลือกบริหารจัดการเงินที่สะสมไว้เพื่อโอกาสต่างๆ มากขึ้น กับหลักเกณฑ์ใหม่ “3 ขอ” ได้แก่
1. ขอเลือก : กรณีให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินระหว่าง "บำนาญชราภาพ" หรือ "บำเหน็จชราภาพ" เมื่อนำส่งเงินสมทบครบเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว
2. ขอกู้ : นำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน
3. ขอคืน : สามารถนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน
- การเพิ่มสิทธิประโยชน์ ม.33 กรณีอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนอื่นๆ อีก ได้แก่
ในกรณีทุพพลภาพ : เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้จากร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง
ในกรณีคลอดบุตร : ปรับสิทธิประโยชน์ทดแทนเพิ่มเติม โดยเพิ่มระยะเวลาในการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยเหมาจ่ายในอัตราครั้งละร้อยละ 50 ของค่าจ้าง จากเดิมเป็นระยะเวลา 90 วันเป็นระยะเวลา 98 วัน หรือ ระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีสงเคราะห์บุตร : ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรโดยให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน
ทั้งนี้ การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุจะได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบ สามารถเลือกเข้าถึงแหล่งเงินฉุกเฉินได้เพิ่มเติม โดยใช้เงินกรณีชราภาพที่ตนจะได้รับในอนาคตเป็นเงินทุน แต่ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนเอามาใช้ก่อนการขอเลือก ขอคืน และขอกู้ อาจทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงทางเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง แต่จะช่วยให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายลดลงในระยะยาว
-----------------------------------------
อ้างอิง : มติ ครม. 10 พ.ค.65, ไทยคู่ฟ้า