‘ทีดีอาร์ไอ’ - หน่วยงานรัฐ หวั่นประกันสังคมล่ม ค้านดึงเงินออมใช้ก่อนเกษียณ

‘ทีดีอาร์ไอ’ - หน่วยงานรัฐ หวั่นประกันสังคมล่ม ค้านดึงเงินออมใช้ก่อนเกษียณ

‘ทีดีอาร์ไอ’ค้านแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคมดึงเงินออมชราภาพใช้ก่อนเกษียณ ค้ำประกันหนี้ หวั่นกองทุนประกันสังคมเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่หลายหน่วยงานรัฐตั้งข้อสังเกต ปมดึงเงินชราภาพมาใช้ก่อนได้ หวั่นเงินออมไม่พอใช้วัยเกษียณ กองทุนฯเสี่ยงล้มละลาย ผลการลงทุนรวมของกองทุนหด

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ .. (พ.ศ.) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพออกใช้ก่อนที่จะมีอายุ 55 ปีได้ หรือนำไปใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ ว่าแม้แนวคิดนี้จะเป็นเครื่องมือที่ดีแต่มาพร้อมกับความเสี่ยง เนื่องจากระบบประกันสังคมทำหน้าที่ในการ “บังคับออม” เพื่อทำให้แรงงานมีเงินในการดำรงชีพเมื่อตนเองสูงอายุ และมีสวัสดิการระหว่างทาง หากเอาเงินก้อนออมเพื่อชราภาพหรือเงินออมเพื่อเกษียณอายุมาใช้ก่อน ในระยะสั้นอาจมีประโยชน์เพราะว่าเศรษฐกิจไทยก็กำลังฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนสูง เงินเฟ้อสูง แต่ส่วนที่เสี่ยงก็คือ ท้ายที่สุดเงินออมตอนสูงอายุก็จะหายไปมีการนำเงินออกมาใช้ไปก่อนในระหว่างทาง หรืออาจนำเงินออมมาใช้ค้ำประกันแล้วถูกยึดไป

อีกส่วนที่เป็นผลต่อเนื่องหากมีการผ่านกฎหมายให้ผู้ประกันตนเอาเงินออมออกมาใช้ได้ก่อนที่จะเกษียณอายุคือผลทางอ้อมที่จะตามมาจากการนำเอาเงินในอนาคตมาใช้ ทำให้คนปรับตัวน้อยลง การลดการบริโภคสิ่งของฟุ่มเฟือย ที่เกิดขึ้นหลายอย่างก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนลดลง เช่น รายจ่ายฟุ้งเฟ้อจากการเล่นพนัน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ได้ลดลงเพราะอาจมองว่ามีแหล่งเงินจากส่วนประกันสังคมที่เอาออกมาใช้ได้ แต่ถ้าเกิดเจอวิกฤติในอนาคตเราก็ไม่มีเงินออมมาช่วยแล้ว

“ผมไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะเอาเงินประกันสังคมมาใช้เท่าไหร่ หรือถ้าเอามาใช้ก็ต้องคอยช่วยประคองด้วยว่าเขาจะกลับมาออมอย่างไร เพราะส่วนหนึ่งถ้าครัวเรือนเจอปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็มักจะต้องบังคับตัวเองให้จ่ายลดลงแต่พอแก้ปัญหาแบบนี้ก็ไม่เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เอาเงินในอนาคตมาใช้ก็เลยปล่อยปัญหาพฤติกรรมเสียๆเกิดต่อไป” นายนณริฏ กล่าว

หน่วยงานรัฐตั้งข้อสังเกตผิดหลักการออมเพื่อเกษียณอายุ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าแม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ จะผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว แต่ยังมีข้อสังเกตจากหน่วยงานต่างๆเกี่ยวกับการนำเงินประกันสังคมในส่วนของเงินชราภาพออกมาให้ผู้ประกันตนใช้ก่อนหรือค้ำประกันเงินกู้ได้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) ระบุว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.โดยกำหนดให้มีการนำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อนอาจเป็นปัจจัยเร่งให้เงินกองทุนประกันสังคมหมดเร็วขึ้น และอาจส่งผลกระทบให้รัฐบาลต้องนำเงินมาสนับสนุนกรณีกองทุนไม่เพียงพอ

เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมยังต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพให้แก่ผู้ประกันตน ตามหลักเกณฑ์ อัตรา และสูตรบำนาญที่กำหนดไว้ นอกจากนี้การอนุญาตให้สามารถนำเงินกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน กองทุนชราภาพจะต้องเปลี่ยนการบริหารจัดการใหม่ เนื่องจากต้นทุนเปลี่ยนและความเสี่ยงเปลี่ยน กองทุนฯ อาจต้องปรับลดสัดส่วนการลงทุนระยะยาว ซึ่งมักจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า เป็นการลงทุนระยะสั้นมากขึ้น เพื่อสำรองเงินจ่ายกรณีผู้ประกันตนใช้สิทธิขอเลือก ขอคืน หรือขอกู้ หมายถึงผลตอบแทนรวม

จะลดลงซึ่งจะกระทบกับสมาชิกทุกคน เพราะหากไม่เรียกเก็บอัตราสมทบสูงขึ้นก็ต้องลดสิทธิประโยชน์ลง ซึ่งหากทำแล้วต้องกำหนดสัดส่วนให้ชัดเจนว่าให้นำออกมาใช้หรือค้ำประกันเงินกู้ได้เท่าไหร่

“หลักการของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่แก้ไขระบบบำนาญชราภาพอาจไม่สอดคล้องกับหลักการประกันสังคม ที่มุ่งลดความเสี่ยงในกรณีที่ผู้ประกันตนจะมีชีวิตยืนยาว กว่าเงินที่เก็บออมไว้ เงินกองทุนชราภาพนั้นเป็นเงินกองกลางที่สำนักงานประกันสังคม บริหารจัดการไว้ทยอยจ่ายให้กับผู้ประกันตนเมื่อเกษียณอายุเป็นรายเดือน ตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต การดึงเงินจากกองทุนชราภาพ

นอกจากทำให้หลักประกันทางรายได้ยามชราภาพของผู้ประกันตนที่เลือกใช้สิทธิลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเงินกองกลางและผู้ประกันคนรายอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย อีกทั้งระบบประกันสังคมเป็นระบบซึ่งสิทธิประโยชน์ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าตามเงื่อนไข (defined benefit) มิใช่ระบบบัญชีออมส่วนบุคคลเพื่อใช้จ่ายยามชราภาพ (defined contribution) ที่ผู้ส่งสมทบมีสิทธิ์ขาดในเงินส่งสมทบไป และการอนุญาตให้เงินกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพบางส่วน ออกมาใช้ก่อน จึงผิดหลักการของระบบประกันสังคมที่ถูกออกแบบมาให้เป็นระบu defined benefits มิใช่ระบบ defined contribution”

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ให้ความเห็นว่าการแก้ไขดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกันมีหลักประกันรายได้เมื่อเกษียณลดลงสมควรต้องมีมาตรการรองรับในระยะยาวไว้ให้ชัดเจนด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาความรู้ และทักษะของผู้ประกันตนให้มีความสามารถในการหารายได้ในอนาคตที่ต้องการความรู้และทักษะใหม่ๆ และควรมีแนวทางในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบประกันสังคมที่ชัดเจนด้วย

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดว่าภาครัฐควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อ ความมั่นคงทางรายได้ยามชราภาพของผู้ประกันตน เนื่องจากการปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพในลักษณะดังกล่าวย่อมทำให้รายได้หลังเกษียณ ของผู้ประกันตนลดลงจนอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในอนาคตและมีความเสี่ยงที่จะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐในท้ายที่สุด นอกจากนั้นหากมีผู้ประกันตนเลือกรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นจำนวนมากก็อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในระยะยาวอีกด้วย

ด้านกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่ารัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงหลักประกันชราภาพในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อความมั่นคงของรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เนื่องจากการเปิดทางเลือกให้สามารถเลือกรับเงินบำเหน็จขราภาพได้ ในกรณีที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน อาจส่งผลให้ผู้ประกันตนขาดความมั่นคงทางรายได้ยามชราภาพ นำมาซึ่งส่งผลกระทบต่อภาระทางการคลังของรัฐบาลในระยะยาว รวมทั้งควรมีการกำหนดทางเลือกเชิงนโยบายอื่น เช่น การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ นอกเหนือจากการให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสะสม บำเหน็จบำนาญชราภาพบางส่วนมาใช้ดำรงชีพ หรือนำไปลงทุนทำงานอื่นๆในช่วงที่ประสบเหตุวิกฤต โดยไม่เสียดอกเบี้ย

ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อการล้มละลายของกองทุนประกันสังคม ซึ่งอาจมีผลตอบแทนในการลงทุนที่ต่ำกว่าเดิม และควรให้ความสำคัญกับประเด็นการให้กลุ่มแรงงานนอกระบบได้เข้าสู่การคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น โดยการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้เพียงพอเหมาะสม และการให้นายจ้างเข้ามามีส่วนรับผิดชอบต่อข้อจำกัดและความสามารถในการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนในแต่ละกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้สามารถดึงดูดแรงงานนอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง เข้าสู่ระบบประกันตนได้มากขึ้นด้วย