"เงินชราภาพ" ต้องรู้! ปรับเกณฑ์ ผู้ประกันตน "ประกันสังคม" ม.33

"เงินชราภาพ" ต้องรู้! ปรับเกณฑ์ ผู้ประกันตน "ประกันสังคม" ม.33

ทำความเข้าใจข้อดี ข้อควรระวัง ของเกณฑ์ใหม่ (ร่าง) พ.ร.บ.ประกันสังคม ก่อนขอเบิก "เงินชราภาพ" ที่ผู้ประกันตน ประกันสังคม ม.33 สะสมไว้บางส่วนออกมาใช้จ่ายก่อนครบกำหนด หรือเลือกรับเงินแบบ "บำเหน็จชราภาพ"

เรียกได้ว่าเป็นโอกาสของ "ผู้ประกันตน" ในกองทุน "ประกันสังคม ม.33" หลัง ที่ประชุม ครม. เมื่อ 10 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ.ประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน โดยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ใน ร่าง พ.ร.บ. ชุดนี้ คือ การมีโอกาสเลือกว่าจะรับเงินที่สมทบในส่วน "เงินชราภาพ" เป็นเงิน "บำเหน็จ" ที่หมายถึงการรับเงินก้อนเดียว หรือ "บำนาญ" แบบทยอยจ่ายไปตลอดชีวิต

เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตน นำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินรวมถึงปรับเกณฑ์ให้สามารถขอนำเงินบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้

ทว่า แม้ผู้ประกันตนจะสามารถเลือกรับเงินสะสมของตัวเองได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็มีข้อห่วงใยจากนักวิชาการว่า การนำเงินออกมาใช้ก่อนจะกระทบทำให้เสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลงหรือไม่

รวมถึงสิ่งที่ผู้ประกันตนจะคำนึงถึงคือ การเลือก "บำเหน็จชราภาพ" กับ "บำนาญชราภาพ" มีข้อดีข้อด้อยที่ต้องทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจเลือก ให้สอดคล้องกับแผนการเงินของตัวเอง เพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกรับเงินจะไม่ส่งผลกระทบกับตัวเองในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้จะถูกต้องประกาศใช้บังคับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนผู้ประกันตนมาทำความเข้าใจ หลักการ เหตุผล และข้อดี ข้อสังเกต ของการเปลี่ยนในครั้งนี้ไปทีละข้อ 

 1. ขอเลือก : "บำเหน็จชราภาพ" VS "บำนาญชราภาพ" 

ขอเลือก : มีสิทธิเลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ เมื่อนำส่งเงินสมทบครบเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว

ตามหลักเกณฑ์ปัจจุบัน (ณ เดือนพ.ค.65) การรับเงินชราภาพ ของผู้ประกันตนประกันสังคมนั้นจะเน้นการให้เงินแบบ บำนาญชราภาพ โดยจะได้สิทธินี้ก็ต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพนั้นจะได้สิทธิเฉพาะกรณี คือ คนที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือกรณีเป็นผู้ทุพพลภาพหรือตายก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์จะได้รับเงินเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ 

ซึ่งหากมีการประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม ใหม่ล่าสุดนี้จะทำให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินก้อนในครั้งเดียว (บำเหน็จ) หรือรับเงินรายเดือนทุกๆ เดือนจนกว่าจะเสียชีวิต (บำนาญ) ได้เอง ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาให้ดีว่าการรับเงินแบบไหนที่เหมาะกับแผนการเงินของเรามากกว่า 

\"เงินชราภาพ\" ต้องรู้! ปรับเกณฑ์ ผู้ประกันตน \"ประกันสังคม\" ม.33

 2. ขอกู้ : ผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ 

เช่น หากตรวจสอบดูว่าเรามีเงินชราภาพอยู่ในระบบ แต่ไม่มีเงินสด ไม่มีเครดิตจะไปกู้สถาบันการเงิน ถ้าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่าน ผู้ประกันตนสามารถไปกู้สถาบันการเงิน โดยกระทรวงแรงงานจะใช้สิทธิในเงินชราภาพไปค้ำประกันได้

เปรียบกับผู้ประกันตนมีหลักทรัพย์ใช้ค้ำประกันได้ชัวร์ยิ่งกว่าที่ดิน ก็คือ เงินที่หักไปให้ประกันสังคมทุกเดือน  ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องใช้เงิน ไม่ต้องอาศัยกู้เงินนอกระบบ

 3. ขอคืน : สามารถนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน 

โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าในส่วนของการ ขอคืน สามารถนำเงินกรณีชราภาพที่สมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน 

พร้อมชี้แจงว่าการนำเงินออกมาใช้ก่อนจะไม่กระทบเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม เพราะการขอคืนไม่ใช่จู่ๆ จะขอคืนได้เลย แต่ต้องเกิดวิกฤติ เช่น สถานการณ์โควิด ถูกล็อกดาวน์ และเป็นวิกฤติของโลก จึงออกเป็นกฎหมายนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือ 

พร้อมให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องทำเรื่องนี้เพราะกฎหมายประกันสังคม 33 ปี ไม่เคยแก้ไข และไม่เคยแก้ปัญหาในยามจำเป็น ทุกคนที่มาบริหารคิดอย่างเดียวว่ากองทุนต้องให้คงไว้ ซึ่งความจริงกองทุนนั้นคงไว้อยู่แล้ว แต่จะให้ผู้ประกันตนมีประตูปิดเปิดหลายๆ ประตู

อย่างไรก็ตาม ยังต้องดูรายละเอียดต่อไปว่าการขอนำเงินประกันชราภาพออกมาใช้ในวิกฤติครั้งนี้จะมีเงื่อนไขอะไรอย่างไรอีกบ้าง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์