ธุรกิจสายการบินเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวเมื่อนานประเทศทั่วโลก เริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทาง รวมถึงการเปิดประเทศ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และธุรกิจสายการบินในไทยเริ่มได้รับสัญญาณบวก เมื่อมีจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ลุยรีเทิร์นเปิดบินอินเตอร์ฯ ยอดนิยม
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพรวมช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ถือว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเเละธุรกิจสายการบินได้รับสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีต่อเนื่อง ทั้งตลาดคนไทยและต่างชาติ ตามที่รัฐบาลพิจารณาและประกาศผ่อนคลายมาตรการขาเข้า และลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นระยะๆ ทั้งนี้สายการบินสมาชิกได้เริ่มทยอยเปิดเส้นทางบินทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มเที่ยวบินตามปริมาณความต้องการในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น
“สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศ ปัจจุบันหลายๆ สายการบินกลับมาให้บริการเกือบครบ หรือครบทุกเส้นทาง 100% แล้ว รวมเส้นทางข้ามภาค โดยมีการปรับปริมาณที่นั่งเเละความถี่เที่ยวบินให้เหมาะสมกับความต้องการเดินทางในเเต่ละช่วงฤดูกาลเดินทาง ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ ปัจจุบันบางสายการบินเริ่มเปิด ให้บริการบ้างแล้วประมาณ 10- 20% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19”
ขณะที่แนวโน้ม 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ค.-ธ.ค.) คาดว่าหลายๆ สายการบินจะเริ่มให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ เพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลประกาศยกเลิกระบบ Test & Go และการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ขาเข้าประเทศ ซึ่งถือเป็นการเปิดประเทศอย่างเต็มตัว ทำให้สายการบินสามารถพิจารณาทำการตลาดเชิงรุกทั้งในประเทศและระหว่างประเทศไทยกับคู่ประเทศที่ไม่ต้องมีการกักตัว ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศ เเละเชื่อมั่นว่าบรรยากาศและสถานการณ์ต่างๆ จะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ
“สายการบินจะพิจารณาเปิดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศในจุดหมายปลายทางที่ คาดว่า น่าจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มัลดีฟส์ เป็นต้น”
แอร์ไลน์ดึงนวัตกรรมเสริมแกร่งบริการ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เส้นทางบินระหว่างประเทศฟื้นตัวได้ใกล้เคียงกับก่อนสถานการณ์โควิด-19 นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายเปิดประเทศของคู่ประเทศต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ยุโรป ตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญการท่องเที่ยวไทย
“เรายังเชื่อว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ยังคงไม่สิ้นสุด ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงไปมาก และประเทศต่างๆ เริ่มทยอยเปิดพรมแดน รวมถึงประชากรส่วนใหญ่ได้รับฉีดวัคซีน แต่การฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศอาจยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะกลับมาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด"
จากวิกฤติครั้งนี้ ทำให้เกือบทุกสายการบินต้องปรับตัวหรือทรานส์ฟอร์มในหลายมิติครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการนำนวัตกรรมระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ (Automated Systems) ในการปฏิบัติการบินและการบริการผู้โดยสารมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกสบายและการทำงานแบบมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งระบบ
ลุ้นนานาประเทศเปิดเต็มตัวปี 66
นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2565 ถือเป็นปีเเห่งการฟื้นตัว โดยเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ ปี 2566 อาจจะเป็นปีที่เราจะเห็นภาพเส้นทางบินระหว่างประเทศกลับมาคึกคักใกล้เคียงกับก่อนสถานการณ์โควิด-19 หากประเทศต่างๆ มีนโยบายเปิดประเทศเต็มตัว มีโอกาสสูงที่จะได้เห็นการกลับมาให้บริการทุกเส้นทางครบ 100% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์นโยบายของเเต่ละสายการบิน ความพร้อมของฝูงบินเเละพนักงาน
โดยการเดินทางแบบระยะใกล้ (Short Haul) คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแรงในปีนี้ เพราะความต้องการในการเดินทางมีสูงเมื่อพิจารณาจากยอดจองบุ๊คกิ้งล่วงหน้าและมาตราการผ่อนคลายการเดินทางที่คลี่คลายลง สำหรับการเดินทางระยะไกล (long haul) ยังคงคาดการณ์ว่าจะเริ่มฟื้นตัวอย่างจริงจังน่าจะภายในปี 2566
“สำหรับปี 2567 หากยังได้รับสัญญาณบวกต่อเนื่อง ไม่มีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบเชิงลบรุนเเรง เชื่อว่าธุรกิจจะสามารถฟื้นตัว 100% และมีโอกาสเห็นการเติบโตที่ชัดเจน ผลประกอบมั่นคงเเข็งเเกร่งมากขึ้น”
แนวโน้มปี 67 ฟื้นตัวเกือบปกติ
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการเดินทางของตลาดท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนทั่วไป หรือเลเชอร์ (Leisure) จะเป็นกลุ่มที่กลับมาทำให้การเดินทางทางอากาศคึกคักอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเรายังคงคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะกลับมาเกือบปกติหรือฟื้นตัวประมาณ 80% ในปี 2567 ส่วนการเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Travel) จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่คงไม่หวือหวา เนื่องจากหลายๆ บริษัทยังคงให้พนักงานทำงานที่บ้าน ซึ่งน่าจะเป็นเทรนด์ของตลาดนี้ในช่วงแรกๆ ของยุคหลังโควิด-19
“เมื่อเรากลับไปดูวิกฤติใหญ่ๆ ของโลกที่ผ่านมา อาทิ Global Financial Crisis หรือ 911 ที่การเดินทางแบบเลเชอร์จะฟื้นตัวได้เร็วมากกว่าการเดินทางเพื่อธุรกิจ ซึ่งกว่าการเดินทางเพื่อธุรกิจจะฟื้นคืนกลับมาจนเกือบปกติต้องใช้เวลาถึง 4 ปี ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเชื่อว่าการเดินทางแบบเลเชอร์จะฟื้นตัวเร็วกว่าการเดินทางเพื่อธุรกิจอย่างแน่นอนหลังจากสถานการณ์โควิด”
เป็นเรื่องดีที่สมาชิกสมาคมทั้ง 7 สายมีสัดส่วนการขนผู้โดยสารที่เดินทางแบบธุรกิจน้อยกว่าสายการบินใหญ่ๆ ที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศแบบ Long Haul จึงสามารถจัดการเรื่องต้นทุนได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าผู้โดยสารแบบ Business Travel ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญในการสร้างความได้เปรียบให้กับสายการบิน เนื่องจากมียีลด์ (Yield) ที่สูงกว่า ดังนั้นเมื่อทุกสายการบินหันมาจับตลาดผู้โดยสารแบบ Leisure ก็อาจจะทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาขึ้นในตลาด