SMK สุดยื้อ ยื่นฟื้นฟู ต่อศาลล้มละลายกลาง 17 พ.ค. 65

SMK  สุดยื้อ ยื่นฟื้นฟู ต่อศาลล้มละลายกลาง 17 พ.ค. 65

SMK ได้ยื่นหนังสือขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว 17 พ.ค. 2565 เน้นแก้ไขโครงสร้างทางการเงิน และหนี้พร้อมแนวทางเพิ่มทุน และแปลงหนี้เป็นทุน ยืนยันยังดำเนินธุรกิจต่อ และคุ้มครองประกันภัยอื่นตามเงื่อนไขเหมือนเดิม

นายเรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ตามที่คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณา และมีมติเห็นชอบให้บริษัทยื่นขอความยินยอมเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งได้พิจารณาคำข้อดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2565

ทาง คปภ. จึงได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือต่อบริษัทให้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง  ซึ่งทางบริษัทต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางภายใน 5 วัน ทำการนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : "สินมั่นคง" ยื่นล้มละลาย ลูกค้าประกัน ต้องรู้อะไรบ้าง

บริษัทจึงยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้วเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565  ซึ่งมีสาระสำคัญของคำร้องฟื้นฟูกิจการดังนี้

1.บริษัทในฐานะลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

2.บริษัทเสนอให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน

3.แนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น ได้แก่

   

3.1 การหาแหล่งเงินทุนใหม่ และปรับโครงสร้างทุน โดยเฉพาะการเพิ่มทุนเพื่อระดมเงินจากผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการชำระหนี้ และ/หรือ เพื่อปรับโครงสร้างทุนให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

3.2 การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ ขยายระยะเวลากำหนดชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เสนอชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน

3.3 การศึกษา และจัดเตรียมแผนและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจประกันภัยให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้การฟื้นฟูกิจการเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19)   ด้วยวิธีการที่มีกฎหมายรองรับ และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  โดยบริษัทจะดำเนินธุรกิจตามปกติอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

รวมถึงการให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยต่างๆ เช่น ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และภาคบังคับ  ประกันอัคคีภัย   ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันขนส่งสินค้าทางทะเล  โดยบริษัทจะดูแล และชำระค่าสินไหมทดแทนตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์   และชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทางการค้าปกติ 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์