กมธ. ติดตามงบฯ จี้ รมว. คลัง ยกเลิกประมูลท่อส่งน้ำ EEC
ประธาน กมธ.ติดตามงบฯ สภาผู้แทนราษฎร ส่งหนังสือถึง รมว.คลัง ยกเลิกประมูลท่อส่งน้ำ EEC ชี้ TOR บกพร่องทั้งด้านวิศวกรรม สังคม กฎหมาย เข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.ร่วมลงทุน แนะให้ สกพอ.ดูแลแทนกรมธนารักษ์
รายงานข่าวจากคณะกรรมาธิการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือถือนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 19 พ.ค.2565 ถึงข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการศึกษาและการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ช่วงวันที่ 11-19 พ.ค.2565 ได้ติดตามการบริหารงบประมาณโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบส่งน้ำสายหลักในภาคตัวออก โดยเชิญหน่วยงานรัฐเข้าร่วม คือ กรมธนารักษ์ ,กรมบัญชีกลาง ,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ,สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ,การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ,สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ,การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รวมทั้งเชิญหน่วยงานเอกชนเข้าร่วม คือ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์, บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด, บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด, บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด, บริษัท ดับบลิวเอขเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เชอร์คูลาร์ พลาส จำกัด
รวมถึงนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ และ นายยุทธนา หยิมการุณ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ พบว่า โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นโครงการที่ดำเนินการในช่วงสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีมติคณะคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2535 ให้ก่อตั้งอีสท์วอเตอร์ เป็นผู้บริหารโครงการ โดย กปภ.ถือหุ้น 1%
ในขณะที่ดำเนินการได้ระยะหนึ่งเห็นว่าต้องมีการลงทุนมากขึ้นเพื่อขยายการให้บริการด้านน้ำในนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และส่งน้ำให้ทุกพื้นที่ได้ โดยรัฐบาลร่วมทุนกับเอกชนด้วยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐลง และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของเอกชน เพื่อนำเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นมาลงทุนกอสร้างระบบท่อน้ำเพิ่ม
นอกจากนี้ ได้หารือกระทรวงการคลังในการเช่าที่ราชพัสดุและทรัพย์สิน ซึ่งขณะนี้สัญญาการเช่าเส้นท่อเพื่อบริหารโครงข่ายน้ำภาคตะวันออกกำลังจะสิ้นสุดลง โดยกรมธนารักษ์ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ให้เช่าบริหารเส้นท่อและระบบเพื่อบริหารน้ำต่อ และเกิดปัญหาร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการฯ ว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและดำเนินการคุ้มครองผลประโยชน์รัฐหรือไม่
ในการนี้เพื่อให้การบริหารโครงการดังกล่าวเกิดความมั่นคงและเกิดเสถียรภาพ สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.การดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกผู้บริหารและจัดการน้ำในระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออกของกรมธนารักษ์ กำหนด TOR ที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนในเนื้อหาสาระสำคัญด้านวิศวกรรม สังคม กฎหมาย อาทิ ปริมาณน้ำที่ใช้คำนวณใน TOR ไม่กำหนดปริมาณน้ำในการคำนวณประมาณน้ำต่อปีที่แน่ชัดทำให้ผู้ประกอบการใช้ปริมาณน้ำต่อปี มาคำนวณในการประมาณที่มากน้อยต่างกัน คือ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และ 35 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ทั้งนี้ ทำให้เกิดปัญหาข้อถกเถียงผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำและข้อจำกัดทางวิศวกรรม
นอกจากนั้น การวิเคราะห์มูลค่าโครงการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ในส่วนมูลค่าการลงทุนภาครัฐ มีการคิดคำนวณเฉพาะมูลค่าการลงทุนเฉพาะที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์ โตยไม่รวมมูลค่าการลงทุนของหน่วยงานของรัฐอื่น เช่น มูลค่าการลงทุนของกรมชลประทาน ในการพัฒนาและบำรุงรักษาแหล่งน้ำดิบ ซึ่งหากคิดรวมมูลค่าการลงทุนหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้องอาจทำให้มูลค่าโครงการเกิน 5,000 ล้านบาท ทำให้อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ประกอบกับมีการร้องเรียนหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องที่ยังขาดความขัดเจนโปร่งใสของขั้นตอนกระบวนการดังกล่าว
2.เนื่องจากการใช้กฎหมายเฉพาะของหน่วยงาน อาทิ กรมธนารักษ์ใช้ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564 ส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดหาผู้ประกอบการ และยังคงมีเส้นท่อเดิมที่อีสท์วอเตอร์ ซึ่งวางโครงข่ายต่อจากแนวเส้นท่อหลักที่ส่งไปบริการพื้นที่ต่างๆ ต้องบริหารในอนาคตที่มีเอกภาพและเสถียรภาพ
ด้วยปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ คณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่าการดำเนินการของกรมธนารักษ์อาจไม่เชี่ยวชาญและเข้าใจปัญหาในพื้นที่เท่าที่ควรที่จะกระทบผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ
ในการนี้คณะกรรมาธิการฯ เห็นสมควรให้นำกฎหมายที่เหมาะสมกับบริบท EEC มารองรับการใช้น้ำของทุกภาคส่วนได้อย่าง
เพียงพอมาใช้ในการคัดเลือกผู้ที่จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำในระบบเส้นท่อของกรมธนารักษ์ โดยให้ สกพอ.เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจตามกฎหมาย และเมื่อ สกพอ.เตรียมเอกสารข้อกำหนดวิธีปฏิบัติครบถ้วน ก่อนการดำเนินการหากมีสาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไปจากมติ ครม.ควรพิจารณาเสนอ ครม.เพื่อเห็นชอบก่อน ซึ่ง คณะกรรมาธิการฯ มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว
3.เห็นควรให้มีคณะกรรมการกำกับภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นผู้ควบคุมชั่วคราว (Interim regulator) โดยให้ สกพอ.ร่วมกับ สทนช.กำหนดโครงสร้างราคาค่าน้ำใน EEC ให้เหมาะสมและเป็นธรรม
4.คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งนี้ และเสนอให้ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนด้วยวิธีการประมูลเพื่อให้การคัดเลือกโปร่งใส เปิดกว้าง ตรวจสอบได้ ทั้งยังเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ส่งผลให้รัฐได้ผลตอบแทนสูงสุด