ผ่ายุทธศาสตร์ 'เซ็ปเป้' มุ่งแบรนด์โลก แตะหมื่นล้าน
'เซ็ปเป้’ เปิดแผนครั้งสำคัญมุ่ง Global Brand ตั้งเป้ารายได้ Triple Growth แตะ 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า จากธุรกิจ 4 ส่วน ทั้งตลาดต่างประเทศ ในประเทศ ออลโคโค่ และการทำ M&A เทงบกว่า 1,000 ล้านบาท ลงทุนขยายกำลังการผลิตสินค้าเพิ่ม 30% รับการโตในอนาคต
แบรนด์ไทยที่ประกาศศักดาก้าวเป็นแบรนด์ระดับโลก(Global Brand)อาจไม่มีมากนัก แต่หากยกต้นแบบคงหนีไม่พ้น “กระทิงแดง” หรือ Red Bull ซึ่งกรุยทางสร้างการเติบโตในเวทีโลกอย่างยิ่งใหญ่เป็นเจ้าสังเวียน “เครื่องดื่มชูกำลัง”
อีกแบรนด์ไทยที่ต้องการเป็นเหมือนพี่ใหญ่ในวงการ คือ “เซ็ปเป้” และล่าสุดแม่ทัพหญิง ปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) ประกาศแผน 5 ปี ขอผลักดันเครื่องดื่มสัญชาติไทยขยายอาณาจักรใหญ่เป็น Global Brand โดยมีการทำตลาดเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก ยิ่งกว่านั้นคือการเห็น “ยอดขาย” แตะ 10,000 ล้านบาท หรือเติบโต 3 เท่าตัว จากปี 2564 บริษัทมียอดขายกว่า 3,444 ล้านบาท
“ตัวชี้วัดภาพของเซ็ปเป้ในการก้าวเป็นแบรนด์ระดับโลก ที่ดีสุดคือไปประเทศไหน ผู้บริโภครู้จักแบรนด์และสินค้าเรา ซึ่งเรามอง Red Bull เป็นตัวอย่าง ไปที่ไหนมีแต่คนรู้จัก”
ปัจจุบันการสร้างแบรนด์ในตลาดโลก “โมกุ โมกุ” ค่อนข้างทำได้ดี โดยมีการขยายช่องทางจำหน่ายครอบคลุมห้างค้าปลีกสมัยใหม่(MT)เกิน 60% แบรนด์มีการทำตลาด จนผู้บริโภครู้จักในวงกว้าง แม้อาจไม่ยิ่งใหญ่แบบ Red Bull แต่การหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ด้านแบรนด์จนเป็นต้นไม้เติบใหญ่มากขึ้น ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวถูกต่อยอดไปยัง 5 ประเทศ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯ ปีหน้าปักหมุดเพิ่มอีก 1 ประเทศ
โมกุ โมกุ บนเชลฟ์ในประเทศเกาหลีใต้
สำหรับกลยุทธ์สร้างแบรนด์ไทยไปแบรนด์โลก และยอดขาย “หมื่นล้าน” บริษัทยังวาง 4 กลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อน ได้แก่ 1.สร้างการเติบโตจากตลาดต่างประเทศเฉลี่ย 15-20% ต่อปี โดยมีตลาดสำคัญทั้งยุโรป เอเชีย อเมริกา ฯ จากที่ผ่านมาแต่ละทวีปสร้างผลงานเติบโตอย่างดี เช่น ยุโรปโต 46.3% เอเชีย 14.6% ตะวันออกกลางและอื่นๆ72.6% โดยรวมโตเฉลี่ย 27.2%
การขยายสู่ตลาดต่างประเทศ จะไม่เจาะแค่ร้านค้าในย่านเอเชียนทาวน์ แต่จะกรุยทางเจาะตลาดแมส เข้าห้างค้าปลีกสมากขึ้น รวมถึงจับมือพันธมิตรสร้างแบรนด์มากขึ้น 2.บุกหนักตลาดในประเทศ ตั้งเป้าการเติบโตเฉลี่ย 10% มาจากการลุย 2 โลกคู่ขนาน คือผลิตสินค้านวัตกรรมเสิร์ฟโลกค้าขาย ช่องทางแบบเดิมทั้งร้านค้าทั่วไป ห้างค้าปลีกต่างๆ ส่วนโลกใหม่ เจาะช่องทางออนไลน์ พร้อมจัดตั้งทีมเดินเกมรุกโดยเฉพาะ
“โลกใหม่เราตั้งแผนกเพื่อโฟกัสอีคอมเมิร์ซ์ 2 ปีแล้ว ทำยอดขายได้ดีเติบโต 600% จากนี้คือการหาสินค้าใหม่ๆที่ต่างจากพอร์ตโฟลิโอเดิมมาเสริมแกร่ง เช่น จับมือเวิร์คพอยท์เสิร์ฟลูกอมครูเพ็ญศรี จับมือแบรนด์ตะขาบผลิตเครื่องดื่ม”
สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องดื่มในประเทศมูลค่าหลัก “แสนล้านบาท” 3-4 เดือนแรกยัง “ติดลบ” 1-2% ส่วนทั้งปีคาดการณ์ยากจะเติบโต เพราะมีตัวแปรด้านการท่องเที่ยว นักเดินทางต่างชาติยังไม่กลับมาเที่ยวไทย จึงส่งผลต่อการบริโภค
3.ขยายออลโคโค่ ผลักดันรายได้แตะ 800 ล้านบาท จาก 316 ล้านบาท ด้วยการเพิ่มจุดขายสินค้าทั่วโลกกว่า 20,000 จุด จาก 4,500 จุด และ 4.ลุยซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) มุ่งสู่สินค้าหมวดใหม่ ช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ และการตลาด ปัจจุบันบริษัทมีการเจรจา M&A ราว 2-3 ดีล
ทั้งนี้ เพื่อแผนบรรลุผล จึงควักงบกว่า 1,000 ล้านบาท ลงทุนขยายกำลังการผลิตเครื่องดื่มเพิ่ม 30% จากเดิมผลิต 140,000 ตันต่อปี โดยมองการสร้างโรงงานประเทศ หรือตั้งฐานทัพต่างแดน การขยายคลังสินค้า 350-400 ล้านบาท เป็นต้น
“เราไม่หยุดนิ่งการลงทุน มีการร่วมมือกับพันธมิตร และซื้อกิจการ เช่น ผนึกดานอน ออกวิตามินวอเตอร์ บลู ถือหุ้นใหญ่ในออลโคโค่ และถือหุ้นในเอ็มอินเทลลิเจนซ์ เพราะเชื่อว่าอนาคตซีอาร์เอ็มจะเป็นอาวุธการตลาดสำคัญในการสร้างเอ็นเกจเมนต์กับผู้บริโภค”