นายกฯ โยน ”ชัชชาติ” ชี้ขาดต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
“นายกฯ” เผยต้องคุย “ชัชชาติ” ปมต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชี้เปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม.ไม่เป็นอุปสรรค ระบุยิ่งช้าเสียประโยชน์ ประชาชนเดือดร้อน ด้านผู้ว่าคนใหม่ยืนยันต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน “บีทีเอส” เล็งหารือหนี้เดินรถ ติดตั้งระบบ หลังทะลุ 4 หมื่นล้านบาท
การเสนอต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี (2572-2602) ระหว่างกรุงเทพมหานคร และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยังมีความยืดเยื้อมาตลอดในช่วงปี 2563-2564 และมีการคัดค้านที่แข็งกร้าวขึ้นหลังจากรัฐมนตรีสังกัดพรรคภูมิใจไทย 7 คน ลาการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ก.พ.2565 หลังจากกระทรวงมหาดไทยเสนอวาระต่อสัญญาสัมปทาน
ในช่วงที่ผ่านมาการต่อสัมปทานดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำลังส่งไม้ต่อให้กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 และที่ผ่านมาได้หาเสียงเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการเข้าถึงรถไฟฟ้ามากขึ้นจากการลดค่าโดยสารและไม่มีการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ถึง การพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่นายชัชชาติ แสดงความไม่เห็นด้วย ว่า จะมีการพิจารณากันต่อไปต้องคุยกันต่อตนก็ถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้วอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการและหน่วยงานที่พิจารณาอยู่
“ก็ต้องคุยกันวันนี้เปลี่ยนผู้ว่ากรุงเทพมหานครใหม่แล้วใช่ไหมมันเป็นภาระที่ต่อเนื่องไงก็ฝากช่วยกันแก้ไขให้มันเดินได้ก็แล้วกันทำให้มันถูกต้องเท่านั้นเองผมก็ไม่ได้ว่าผิดหรือถูกหลายอย่างมันอยู่ในอำนาจในกรอบของคณะกรรมการทั้งนั้นแหละนายกฯก็ให้นโยบายไปทำ ไอ้โน่นไอ้นี่อันนี้ควรให้ทำ ครม.อนุมัติไปแต่ทุกคนก็ต้องไปทำตามกฎหมายที่มีอยู่ต้องรับผิดชอบเข้าใจไหม”นายกฯกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามประเด็นการเปลี่ยนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาหรือไม่ ว่า “ไม่มีมั้งจะมีได้ไงถ้าคุยกันมันก็จบมันเป็นระบบที่ต้องทำงานด้วยกันอยู่แล้ว”
ส่วน ประเด็นที่นายชัชชาติ ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานอยากให้มีการนำมาพิจารณากันใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า “ผมยังไม่ได้ยินจากเขาเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูมีกระทรวงมหาดไทยคมนาคมรฟม.ผู้ได้สัมปทานทำนองนี้ก็คุยกันแต่ข้อสำคัญ คือ ยิ่งช้าก็เสียประโยชน์ประชาชนก็เดือดร้อนเพราะ ฉะนั้นเราก็อยากให้ทุกอย่างมันสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือด้วยกันทุกฝ่ายไม่ว่าจะใครก็ตามผมไม่ได้เป็นศัตรูกับใครอยู่แล้วแต่ผมทำงานด้วยหลักการด้วยกฎหมายด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ผมต้องระวังอย่างที่สุด”
เมื่อถามว่าแสดงว่าเรื่องนี้จะจบลงในเร็วๆ นี้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “คุยหรือยังเขาก็ต้องรอคุยกันต้องแต่งตั้งก่อนมีกระบวนการต่างๆ แล้วถึงจะคุยกันได้”
“ชัชชาติ” ชี้ต้องเข้า พรบ.ร่วมทุน
นายชัชชาติ กล่าวถึงนโยบายไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ต้องการอยากให้มีการแข่งขันราคาถึงจะมีความเป็นธรรม อยากให้ทำตามระบบ บังคับใช้ พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบ จึงต้องคิดให้รอบคอบหลังจากนี้จะทำหนังสือชี้แจงเข้าไปยังรัฐบาล เพราะหากมีมติ ครม.ออกไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
สำหรับการพิจารณาดังกล่าวจะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะการพิจารณาประเด็นถึงความจำเป็นที่ต้องต่อสัญญาสัมปทนให้เอกชน 30 ปี โดยไม่ผ่านการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งควรมีการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวที่มีการกำหนดขั้นตอนการเจรจาไว้แล้ว
ส่วนการชำระหนี้ค่าก่อสร้างให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เป็นผู้ก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบเช่นเดียวกัน ซึ่งในการประชุม ครม.ช่วงที่ผ่านมามีความเห็นขัดแย้งกันจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาด้วยเหตุผล
โดยเฉพาะในประเด็นมูลหนี้ของกรุงเทพมหานครที่ต้องชำระ รวมถึงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และการต่อสัญญาสัมปทานที่ไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งการดำเนินการคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อาจจะผ่านการพิจารณาไม่ละเอียด
“ศักดิ์สยาม” ยันต้องกฎหมาย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงแนวทางการทำงานร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกทรุงเทพมหานครประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ขอให้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมาย ซึ่งกระทรวงคมนาคมยืนยันหลักการนี้
ส่วนจะมีการรื้อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่ นายศักดิ์สยาม ระบุว่า “ผมไม่ทราบ กรุงเทพมหานครต้องไปดู กระทรวงคมนาคมบอกไปแล้วว่าใจความคืออะไร ให้ปฏิบัติถูกต้องตามมติ ครม.”
นายศักดิ์สยาม ตอบคำถามประเด็นต้องให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวโอนไปให้รัฐบาลดูแลหรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ขอให้ดูก่อนอย่าไปพูดอะไรล่วงหน้าเพราะมีรายละเอียดเยอะ
สำหรับกรณีที่นายชัชชาติหาเสียงจะไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียวถือเป็นเรื่องที่สอดรับการทำงานของกระทรวงคมนาคมหรือไม่นั้น อยู่ที่ผลการศึกษา หลักการอยู่ที่ทำอะไรแล้วประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและสัญญาการที่อยู่ๆจะไปลดอะไรต่างๆนาๆต้องไปดูด้วยว่าสัญญาสามารถทำได้หรือไม่ระวังจะเป็นค่าโง่ อย่างไรก็ตามคงต้องขอให้นายชัชชาติ รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการก่อนอย่าเพิ่งถามอะไรล่วงหน้า
“บีทีเอส” หารือหนี้เดินรถ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า ขณะนี้ได้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่แล้ว ซึ่งในกรณีที่กรุงเทพมหานครมีภาระหนี้คงค้างอยู่กับบีทีเอสนั้น อาจจะต้องใช้เวลาในการหารือเรื่องนี้ เพราะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ยังไม่ได้เข้ามาเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ
ส่วนกรณีการเจรจาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทราบว่าปัจจุบันเรื่องอยู่ในกระบวนการของกระทรวงมหาดไทยเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.
รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การพิจารณาเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกรุงเทพมหานคร เพื่อขยายสัญญาสัมปทาน ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ออกไปอีก 30 ปี ในช่วงที่ผ่านมา กทม.โดยกระทรวงมหาดไทย เตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.แต่ยังมีข้อคัดค้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ต้องกลับมาดำเนินการหารือร่วมกัน
โดยประเด็นที่มีการคัดค้านจากกระทรวงคมนาคมมี 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นที่เคยมีการทักท้วงเรื่องการดำเนินการให้ครบถ้วนตามหลักการของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ (ตามมาตรา 46 และมาตรา 47) 2.อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ประชาชน 3.การใช้ทรัพย์สินของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 4.ข้อพิพาททางกฎหมาย เกี่ยวกับการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
หนี้บีทีเอสทะลุ 4 หมื่นล้าน
ขณะที่ภาระหนี้สินระหว่างกรุงเทพมหานครกับบีทีเอส ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 23 พ.ค.2565 รวมจำนวนประมาณ 40,000 ล้านบาทแล้ว ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1.ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (08M) ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 3,710 ล้านบาท ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 13,343 ล้านบาท
2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 20,088 ล้านบาท โดยปัจจุบันบีทีเอสได้ทวงถามหนี้กับ กทม.มาแล้วหลายครั้ง และได้ยื่นฟ้องเพื่อให้ กทม.จ่ายหนี้ในส่วนของค่าจ้างเดินรถที่ขณะนี้เป็นจำนวน 13,343 ล้านบาทแล้ว
ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครยังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระกับบีทีเอสอีก แบ่งเป็น ภาระเงินต้นงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่- คูคต ที่กรุงเทพมหานครรับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปี 2561 จำนวน 55,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปี 2564-2572 ประมาณ 10,000 ล้านบาท