‘ชัชชาติ’ ขอเวลา 1 เดือน เคลียร์ปม! สายสีเขียว
“ชัชชาติ” ขอเวลา 1 เดือน ไขปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยันเข้าทำงานจะเร่งสาง 3 ประเด็น ภาระหนี้ - สัญญาว่าจ้าง – ต่ออายุสัมปทาน ชี้แนวคิดโอนโครงการคืน รฟม.หวังแก้ปัญหาค่าแรกเข้า
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่าเรื่องนี้จะต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และต้องยุติธรรมกับภาคเอกชนด้วย ซึ่งตนแบ่งเรื่องที่ต้องเร่งเข้าไปดูรายละเอียดรวม 3 เรื่อง ประกอบด้วย
ส่วนแรกเรื่องหนี้ที่ กทม.ไม่มีไปใช้ให้กับภาคเอกชนรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนนี้ทราบว่ามีหนี้ที่เกิดจากโครงสร้างงานโยธาที่รัฐบาลสร้างไว้ และโอนมาให้ กทม.รับหนี้ ดังนั้นต้องถามว่าเป็นการรับหนี้ที่ถูกต้องหรือยัง เพราะที่ผ่านมาหลายโครงการรถไฟฟ้า รัฐบาลก็จะช่วยรับในส่วนของโครงสร้างงานโยธา มีแต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้ที่ กทม.รับโอนหนี้มา จึงต้องเข้าไปดูในรายละเอียด เพราะหากรัฐบาลรับหนี้ส่วนนี้ไป จะทำให้ กทม.ลดภาระหนนี้ไปอีก 4-5 หมื่นล้านบาท
เรื่องที่สอง สัญญาการว่าจ้างเดินรถ ขณะนี้ทราบว่า กทม.ไม่ได้จ้างเอกชนเข้ามาทำสัญญาเดินรถโดยตรง แต่เป็นการจ้างผ่านกรุงเทพธนาคม ซึ่งบริษัทนี้ กทม.ถือหุ้นอยู่ และเรียกว่าเป็นหลุมดำ เพราะการทำสัญญาผ่านกรุงเทพธนาคมทำให้ กทม.ไม่สามารถดูรายละเอียดของสัญญาอย่างชัดเจนได้ และเบื้องต้นทราบว่ามีเงื่อนไขระบุในสัญญาจ้างเดินรถด้วยว่าห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลภายนอก
อีกทั้งสัญญาการว่าจ้างเดินรถทราบว่าที่ผ่านมาสภา กทม.ก็ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติให้ทำสัญญาฉบับนี้ เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารกรุงเทพธนาคม ซึ่งหลายส่วน กทม.ก็ไม่ได้ดูในรายละเอียดชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นการว่าจ้างโดยไม่ได้จัดทำผ่าน พรบ.ร่วมทุน และปัจจุบันเรื่องนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ต้องดูรายละเอียดในเรื่องนี้อีกที
ทั้งนี้ การจ้างเดินรถที่ทำสัญญาถึงปี 2585 ส่วนตัวจะเร่งเข้าไปตรวจสอบรายละเอียด และดูการพิจารณาของ ป.ป.ช.ประกอบด้วย หากพบว่าเป็นการทำสัญญาว่าจ้างเดินรถที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการ ก็คงต้องดำเนินการให้ถูกต้อง โดยหากต้องยกเลิกสัญญาก็จะทำให้การเปิดคัดเลือกเอกชนเดินรถส่วนนี้จะสอดคล้องไปกับสัญญาสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุในปี 2572 และต้องสรรหาเอกชนร่วมลงทุนใหม่ แต่เน้นย้ำว่าเรื่องนี้ต้องไปดูว่าสามารถยกเลิกสัญญาได้ไหม ถ้าสัญญาดำเนินการอย่างถูกต้อง ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเอกชน ถ้าถูกต้องก็ต้องหาเงื่อนไขอื่นไปต่อรองราคาค่าโดยสารให้เกิดประโยชน์กับประชาชนเป็นที่ตั้ง
เรื่องที่สาม การพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าที่กำลังจะหมดอายุในปี 2572 เรื่องนี้ต้องชี้แจงว่า แนวทางการต่อสัมปทานไม่ได้เป็นข้อเสนอของ กทม. แต่เป็นข้อเสนอของ ม.44 และไม่ได้ใช้ พรบ.ร่วมทุน จึงทำให้การคำนวณอัตราค่าโดยสารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในราคาสูงสุด 65 บาท ไม่ได้เกิดการตรวจสอบว่าถูกหรือแพงเกินไป เพราะไม่ได้เกิดการแข่งขันของภาคเอกชน ทำให้ไม่มีข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เราคิดว่ามันเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่ ดังนั้นเพื่อโปร่งใสและเป็นธรรมก็คือการเข้า พรบ.ร่วมทุน เกิดการแข่งขัน และส่วนตัวเชื่อว่าถ้ามีเงื่อนไขกำหนดในสัญญาว่าเอกชนที่จะได้สัมปทานรับหนี้ไปด้วย เชื่อว่าเอกชนก็รับได้ และเรื่องดีคือจะเกิดการแข่งขันด้านราคาค่าโดยสารอีก อธิบายสังคมได้ง่ายขึ้น
“เรื่องการพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้า ส่วนตัวผมว่าเรื่องนี้ยังมีเวลาเพราะสัมปทานจะหมดในปี 2572 ระหว่างหนี้ก็ยังสามารถดำเนินการได้ หาแนวทางที่เหมาะสมและตอบคำถามประชาชนได้”
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ภาระหนี้สินที่ กทม.มีเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้ ยืนยันว่าหากหนี้สินเกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กทม.ก็ต้องจ่ายหนี้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับภาคเอกชนด้วย เพราะเขาก็ลงทุนไป มีต้นทุนการดำเนินงาน แต่เชื่อว่าในเรื่องนี้มีวิธียืดหนี้หรือเจรจากันได้ แต่การว่าจ้างเดินรถจ้างไปก่อนโดยไม่ได้ผ่าน สภา กทม.ทำให้ไม่ผ่านอนุมัติการจ่ายหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นตรงนี้มันจึงต้องดูสัญญาอย่างรอบคอบ
ทั้งนี้ ตนขอเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จากการเข้าไปดูสัญญาทุกฉบับเรื่องนี้ ตรวจสอบกระบวนการรับหนี้ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จึงจะมีคำตอบว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งจะขอเวลาในการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวในระยะเวลา 1 เดือน ก็จะได้คำตอบให้ประชาชนทราบ เชื่อว่ากรุงเทธนาคมมีคำตอบอยู่แล้วในสิ่งที่ประชาชนต้องการคำตอบ
ส่วนกรณีที่ตนมีแนวคิดที่จะโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปดำเนินการ และ กทม.จะดูแลระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้า อันนี้ยังเป็นเพียงแนวคิด แต่ยืนยันว่าเป็นแนวคิดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาค่าแรกเข้าให้กับประชาชน อีกทั้งขณะนี้ กทม.ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการอีก 2 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีเทาและรถไฟฟ้าสายสีเงิน ส่วนตัวก็มีแนวคิดอยากให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการมากกว่า เพราะแนวเส้นทางตัดกับรถไฟฟ้าหลายสายที่ รฟม.ดำเนินการอยู่ หาก รฟม.นำไปบริหารทั้งหมดก็จะแก้ปัญหาค่าแรกเข้า