ถึงเวลาไทยใช้ ‘โมเดล Inside-out’ สร้างการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคต
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC เตือนไทยรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม แนะปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจเป็น Inside-out สร้างการเติบโตจากนวัตกรรมในประเทศจัดคนไปพื้นที่เหมาะสม
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวในงานเสวนา Better Thailand Open Dialogue “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” เร็วๆนี้ว่าประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยง และความท้าทายในการเผชิญภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ เป็น “ภาวะความไม่แน่นอนที่มากขึ้น” นอกจากวิกฤตโควิดที่ ยังมีปัจจัยเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ยังคงเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
โดยในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจโลกกำลังก้าวผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พร้อมไปกับการรับมือกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ วิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกเปลี่ยนแปลงไปมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว หลังโควิด-19 คลี่คลายลง
หากสินค้าและบริการของไทยขายไม่ได้ อาจไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจชะลออย่างเดียว แต่เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยมองว่าเป็นความท้าทายที่เป็นโอกาส ถ้ามีความเข้าใจในบริบท และวางแผนปรับตัวได้ถูกต้องก็จะเป็นโอกาสของประเทศไทยเช่นกัน
“สัญญาณรายได้ต่อหัวของไทย ณ วันนี้ เติบโตช้าเมื่อเทียบกับประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ เช่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ในตอนที่เขาอยู่ที่ระดับการพัฒนาเดียวกับเรา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จ คือ การปรับโมเดลการเติบโตให้เหมาะสมกับลำดับขั้นของการพัฒนา”
ดร.สมประวิณ ได้กล่าวถึงงานศึกษาของ Acemoglu Aghion and Zilibotti ที่อธิบายว่าในช่วงแรกของการเติบโต ระบบเศรษฐกิจควรใช้โมเดล “Outside-in” นั่นคือ การหยิบยืมนวัตกรรมจากประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาเพิ่มผลิตภาพ โดยให้ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นผู้นำนวัตกรรมเข้ามาลงทุนในประเทศ เพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีเงินทุนและ Connection ที่ช่วยให้เข้าถึงนวัตกรรมได้ง่าย แต่เมื่อพัฒนาจนถึงระดับหนึ่งแล้ว จะต้องเปลี่ยนมาใช้โมเดล “Inside-out” นั่นคือ การเติบโตมาสร้างนวัตกรรมใหม่ด้วยตัวเองจากภายใน ซึ่งจะเกิดจาก “การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม”
โดยธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่แข่งขันกัน และทำงานร่วมกันเพื่อคิดนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ที่ปฏิรูปเศรษฐกิจหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 เกาหลีใต้ปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเงินเพื่อส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ทำให้ปัจจุบันธุรกิจขนาดใหญ่และเล็กช่วยกันคิดนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ
ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเปลี่ยนมาใช้โมเดลการเติบโตแบบ “Inside-out” ที่ให้คนในระบบเศรษฐกิจทุกคนมีส่วนร่วมกับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตจากภายใน ภาคเอกชนและภาครัฐสามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจออกไปให้กับคนไทย
โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดสรรคนไปยัง ‘พื้นที่ที่เหมาะสม’ เพื่อให้พวกเขาได้รับบทบาทที่สอดคล้องกับศักยภาพ และสร้างโครงข่ายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เชื่อมต่อคนเข้าหากัน แบ่งปันข้อมูลข่าวสาร ทรัพยากร องค์ความรู้และสนับสนุนการเติบโตของกันและกัน และให้ภาคการผลิตทุกภาคส่วนล้วนมีศักยภาพในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระบบนิเวศตามแบบฉบับของตนเอง หากได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจเพียงพอ และสามารถปรับ ‘แนวคิด’ และ ‘วิธี’ การเติบโตที่เหมาะสม
วิธีการปรับโมเดลเศรษฐกิจให้เป็น Inside-out คือการเพิ่มกำลังการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก ผ่านการเชื่อมต่อกับธุรกิจขนาดใหญ่ และการเข้าถึงเงินทุนผ่านระบบการเงินที่ไทยเราสามารถเพิ่มกำลังในการเติบโต ของธุรกิจขนาดเล็ก โดยการส่งเสริมการเข้าถึงทรัพยากร เช่น ปัจจัยการผลิต วัตถุดิบและเงินทุน เป็นต้น และการเข้าถึงตลาด เข้าถึงลูกค้า เข้าถึงคู่ค้าใหม่ๆ
กลยุทธ์ที่ตอบโจทย์การเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและการเพิ่มกำลังในการเติบโตให้กับธุรกิจขนาดเล็ก คือการเชื่อมต่อธุรกิจขนาดเล็กเข้ากับห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจขนาดใหญ่ โดยธุรกิจขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ เข้ากับธุรกิจขนาดกลางและเล็กในประเทศ
ธุรกิจขนาดเล็กจะได้เข้าถึงทรัพยากร และตลาดขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้สร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับธุรกิจที่เล็กกว่าซึ่งจ้างงานคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนเหล่านี้คือผู้บริโภคที่จะกลับมาซื้อสินค้าและบริการของธุรกิจขนาดใหญ่ คือแรงงานที่มีส่วนร่วมในการผลิตสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม
โดยกลยุทธ์เชื่อมต่อต้องทำคู่ไปกับการสนับสนุนทรัพยากรทางการเงิน ปัจจุบันยังมีธุรกิจขนาดเล็กที่เข้าไม่ถึงเงินทุนจากระบบการเงินไทยอีกมาก ซึ่งเป็นผลจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารในตลาดสินเชื่อ นั่นคือ ข้อจำกัดในการสื่อสารถึงศักยภาพของธุรกิจภายใต้กรอบการประเมินสินเชื่อในปัจจุบัน สถาบันการเงินจึงให้สินเชื่อได้ยาก
นอกจากนี้ในวิธีแก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร คือ การมี ‘ตัวกลางเครดิต’ เป็นคนกลางประสานและส่งต่อข้อมูลระหว่างผู้กู้กับสถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการให้สินเชื่อ ให้ความช่วยเหลือธุรกิจในการทำแผนธุรกิจ และในบางกรณียังเป็นผู้ประเมินเครดิตอิสระที่ทำงานร่วมกับสถาบันการเงิน เช่น The National Credit Mediator ของฝรั่งเศส