"เอนก"จุดพลุเวทีโลกรับไทยต้นแบบ "บีซีจี"โมเดลเศรษฐกิจใหม่
"เอนก" รมว.อว. ย้ำความสำคัญ "บีซีจี" ระบุเป็นวาระสำคัญในการประชุมเอเปค 2565 หวังชาติอาเซียนและทั่วโลกยอมรับโมเดลเศรษฐกิจใหม่จากประเทศไทย
กรุงเทพธุรกิจ จัด Virtual Forum "Thailand Next EP3 : Circular Economy นวัตกรรมเพื่ออนาคต" ในวาระครบรอบ 50 ปี เครือเนชั่น โดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐากถาพิเศษหัวข้อ “BCG Model ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่ง "บีซีจี" หมายถึงเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG)
นายเอนก กล่าวว่า ในช่วงท้ายของรัฐบาลชุดที่แล้ว กระทรวง อว.ได้นำเสนอนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เห็นชอบให้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลสืบเนื่องถึงปัจจุบัน โดยจัดตั้งคณะกรรมการระดับนโยบายมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมอบหมายให้ รมว.อว. เป็นประธานคณะกรรมการในการขับเคลื่อน โดยทั้งสองคณะมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ
เสนอ"เอเปค"รับเศรษฐกิจบีซีจี
รัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่นี้ โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติในปี 2564 นอกจากนี้ ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิค หรือเอเปค ปี 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพก็ใช้ BCG เป็นประเด็นหลักในการประชุมเพื่อนำเสนอเขตเศรษฐกิจต่างๆ ให้เกิดการยอมรับ และพิจารณานำไปพัฒนาเศรษฐกิจในระดับโลกต่อไป
แนวคิด BCG เริ่มเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบความต้องการของประเทศ ในการผลักดันตนเองไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580 โดยใช้จุดเด่นและจุดแข็งที่มีคือ ความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรชีวภาพ แต่ส่วนสำคัญมากที่ทำให้ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียวสามารถพัฒนาได้ดีคือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะเรียกว่าเป็นรากฐานสำคัญก็ว่าได้
เศรษฐกิจหมุนเวียนคือ ระบบการผลิตที่ต้องมีการวางแผนให้มีการนำทรัพยากรกลับมาใช้ได้อีกครั้ง (return) ทำให้ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ (virgin material) และลดการเกิดของเสีย (waste minimization) หรือ จะพูดง่ายๆ คือ การทำให้สินค้าจากภาคการผลิตสามารถใช้ได้นานที่สุด ส่วนในภาคบริการคือ การทำให้เมืองหรือแหล่งท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น ทำให้เกิดโอกาสมากมายในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เป็นประโยชน์ต่อสังคม และเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม
เศรษฐกิจหมุนเวียนขับเคลื่อน B และ G
"ดูผิวเผินแล้ว อาจจะเข้าใจว่า หากนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ จะทำให้ลดกำลังการผลิตสินค้าและเกิดความยุ่งยากในการให้บริการ แต่จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง มีการประมาณการว่า อีก 10 ปี เศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกโตขึ้น 25 % และสำหรับประเทศไทยแล้ว หากใช้นโยบาย BCG มูลค่า GDP จะเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2570"
หากมองในภาพในภาคการผลิต ทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรมแล้ว เศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการวางแผนการผลิตตั้งแต่ต้น และมีของเสียน้อยลง ลดการสิ้นเปลือง สำหรับภาคการบริการก็เกิดโอกาสทางธุรกิจเช่นกันเพราะ หลักการให้สินค้าคงคุณค่า หรือใช้ได้นานที่สุดนั้น ภาคการบริการจะเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการ recycle refurbish/remanufacturer Reuse/Redistribute และ การ maintain สินค้า ก่อนที่สินค้านั้นจะกลายเป็นของเสีย
"ไม่ใช่แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ยังเป็นโอกาสในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี หรือแม้แต่วิสาหกิจรายย่อยที่จะเข้าไปอยู่ใน value chain ของระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องใหม่ ทำให้ต้องการรูปแบบหรือแนวคิดในการทำธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ ก็จะเป็นโอกาสของธุรกิจใหม่ในรูปแบบสตาร์ทอัพมากมาย"
ตั้งเป้า 10 ปี ประเทศพัฒนาแล้ว
นายเอนก กล่าวอีกว่า การที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วต้องพัฒนาด้วยการเดิน 2 ขา ขาหนึ่งก็คือ ขาที่เดินด้วยเศรษฐกิจเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขาที่สองก็คือขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจความงาม ธุรกิจสุขภาพที่ส่งเสริมจิตวิญญาณ ในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งสองขาล้วนต้องการทั้งบุคลากร องค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก เรียกว่าในบางสาขานั้นไม่แพ้ประเทศใดในทวีปเอเชีย
"ยกตัวอย่างในเรื่องการส่งยานอวกาศที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบไม่มีคนอยู่บนยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายใน 4 ปี เป้าหมายเพื่อทดสอบความสามารถในการควบคุมหุ่นยนต์ที่อยู่ไกลจากโลกประมาณ 4 แสนกิโลเมตร เป็นเรื่องไม่ยากสำหรับคน ตอนนี้คนไทยสามารถผลิตดาวเทียมลูกเล็กๆ ได้แล้ว จากนั้นก็จะผลิตดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ"
ทางด้านกระทรวง อว.มีหน่วยงานวิจัยระดับชาติและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ฯ ที่มีความก้าวหน้ามาก เช่น ดาวเทียม เครื่องฉายแสงซินโครตรอน เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งเครื่องโทคาแมคที่เป็นเครื่องกำเนิดพลังงานที่มีความปลอดภัยสูงโดยปฏิกิริยาฟิวชัน และที่สำคัญประเทศไทยยังเข้าถึงงานวิจัยวิทยาศาสตร์ระดับสูงขององค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) ซึ่งจำกัดเฉพาะประเทศภาคีสมาชิกเท่านั้น
อว.พร้อมสนับสนุน "ปัญญา" ให้กับทุกคน
โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยมีความก้าวหน้าติดระดับโลก กระทรวง อว.พร้อมให้บริการและอยากเชิญชวนผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชนและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาติดต่อเพื่อใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้
ขณะเดียวกันก็ได้มอบนโยบายว่า หากประเทศได้กำหนดเป้าหมายในการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปี กระทรวง อว. ที่เป็นกระทรวงแห่งความรู้และปัญญา กระทรวงแห่งอนาคต จะต้องเป็นกระทรวงแรกในการนำประเทศไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยกำหนดเป้าหมายไว้ภายใน 10 ปี
"จากการที่ผมได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี มากำกับดูแลนโยบายของกระทรวง อว. มากว่า 1 ปี ผมได้เห็นศักยภาพของประเทศไทยในด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะในด้านที่เรามีความเข้มแข็ง จนทำให้เกิดนโยบาย BCG จึงมีความมั่นใจมากว่า นี่เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด 19 และประเทศไทยสามารถเป็นประเทศชั้นนำของโลก ที่มีความโดดเด่นในด้านเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะเป็นนโยบายสำคัญในการนำประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในที่สุด" นายเอนก กล่าว