ส.อ.ท.ผลักดัน 'บีซีจี โมเดล' ชู 5 คลัสเตอร์นำร่องพัฒนาอุตสาหกรรม

ส.อ.ท.ผลักดัน 'บีซีจี โมเดล' ชู  5 คลัสเตอร์นำร่องพัฒนาอุตสาหกรรม

"ส.อ.ท." จับมือ "บพข." และ "วิศวะจุฬาฯ" เร่งผลักดันนโยบาย BCG Model พัฒนา 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมนำร่อง

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือดำเนินโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อยกระดับภาคธุรกิจ 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม และสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ BCG ในฐานะวาระแห่งชาติ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมผลักดันและดำเนินงานตามนโยบาย BCG ของประเทศ ภายใต้ 3 กลยุทธ์ คือ 1) การพัฒนาโมเดล BCG และการขยายผล 2) การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ และ 3) การพัฒนามาตรฐานและการสนับสนุนด้านนโยบาย โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรบริสุทธิ์น้อยลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรม

โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การส่งเสริม Smart Agriculture Industry การพัฒนา Platform การบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือที่เรียกว่า “Circular Material Hub” การจัดทำข้อตกลงร่วมบรรจุภัณฑ์พลาสติก PET ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการจัดขยะพลาสติกภายใต้การสนับสนุน AEPW การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมถึงโครงการการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมฯ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้ทุนการสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ได้เล็งเห็นถึงบทบาทภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อน BCG ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งโครงการฯ จะเน้นการศึกษาวิจัย BCG Model ในทางวิชาการและสร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ BCG เพื่อนำไปสู่การปรับใช้ในทางธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง หลังจากที่ผลการศึกษาเสร็จสิ้น บพข. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในโครงการ ด้วยนโยบายการสนับสนุนทางการเงิน ภาษี การลงุทน กฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนาและการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างประโยชน์จากผลการวิจัยโครงการฯ ให้เกิดขึ้นจริงกับธุรกิจ

ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับนโยบาย BCG เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 โดยความร่วมมือในโครงการนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะส่งเสริมและสนับสนุนในด้านวิชาการ ทั้งในเชิงองค์ความรู้เกี่ยวกับ Circular Economy และวิธีการวิจัยที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำ Focus Group และจัดทำ Guidelines เพื่อให้ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารนำแนวทางไปปรับใช้และพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้

163055789856

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ส.อ.ท. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินภารกิจดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน BCG และร่วมผลักดันในการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต้นแบบโมเดลกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ์ผล เพื่อสร้างทางเลือกแผนธุรกิจที่มีศักยภาพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมและร่วมจัดทำคู่มือบทเรียนความสำเร็จของ CE Champion จาก 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง อาหาร ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการทุกขนาดโดยเฉพาะ SMEs รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีจุดแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขัน ของประเทศ