ควานหา "หุ้นเด่นสหรัฐ" ท่ามกลางภาวะตลาดหมี

ควานหา "หุ้นเด่นสหรัฐ" ท่ามกลางภาวะตลาดหมี

นับวันจิตใจนักลงทุนทั่วโลกต่างมีความรู้สึกคล้ายๆ กัน นั่นคือ ใจบางๆ ลงทุกวัน เพราะเมื่อเห็นกระแสข่าวแต่ละขั้วโลก ล้วนกระทบต่อสินทรัพย์ต่างๆ ที่ลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่อ่อนไหวไปซะทุกเรื่องราว

แต่นี่ก็คือธรรมชาติของตลาดหุ้นที่หมุนวนขึ้นๆ ลงๆ  "ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์ จำกัด   เข้าใจความรู้สึกทุกท่านดีและขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน 

จริงอยู่ว่า การหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร เป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่จำเป็นมากกว่า คือ การยึดหลักการลงทุนที่ถูกต้อง คุณจะมองเห็นโอกาสและเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี
 
บุคคลที่ "ตราวุทธิ์"  กำลังนึกถึงอยู่ตอนนี้ คือ  ปู่ ‘Warren Buffett’ นักลงทุนในตำนานของโลกวัย 91 ปีเคยสอนว่า ในยามตลาดขาขึ้น เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง ทุกบริษัทจะดูดีไปหมด แม้แต่ธุรกิจแย่ๆ ก็อาจสามารถทำกำไรได้ ทำให้เราแยกบริษัทที่ดีเยี่ยมออกจาบริษัทธรรมดาได้ยาก
 
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ตลาดขาลง เศรษฐกิจเริ่มแย่ลง เราจะเริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนว่าบริษัทและธุรกิจไหนที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง

ควานหา \"หุ้นเด่นสหรัฐ\" ท่ามกลางภาวะตลาดหมี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงตลาดหุ้นขาลง ราคาหุ้นของทุกบริษัทจะเริ่มโดนเทขายพร้อมๆ กัน และหลายครั้งก็จะปรับตัวลงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
 

ส่วนในยามที่ตลาดเริ่มนิ่ง บริษัทที่ดีที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดเท่านั้น ที่จะสามารถทำกำไรและเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้ในยามวิกฤตก็จะเป็นบริษัทที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาได้ก่อนเพื่อน

ยึดหลักการปู่ ลงทุนหุ้นดีช่วงหุ้นลง
นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าสู่ภาวะผันผวนขาลง โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งดัชนี S&P 500 ปรับตัวร่วงลงมา 17% และดัชนี Nasdaq ลดลง 25% จากจุดสูงสุดแล้ว

ท่ามกลางความกลัวของนักลงทุนทั่วโลก แต่ปี 2565 นี้ กลับเป็นปีที่เราได้เห็นปู่ Warren Buffett เข้าลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เยอะอีกครั้ง ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ควักเงินสดออกมาซื้อหุ้นสหรัฐฯ แล้วกว่า 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีทั้งหุ้นของบริษัทน้ำมัน Occidental Petroleum บริษัทประกันภัย Alleghany และบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง HP
 
 

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท Berkshire Hathaway ได้จัดประชุมผู้ถือหุ้น รายงานว่า  ยังเหลือเงินสดราวๆ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในพอร์ต  ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 4 ปี หลังจากช่วงปี 2563-2564 เป็นปีที่ตลาดหุ้นขาขึ้น ปรากฏว่า Berkshire Hathaway กอดเงินสดไม่ได้เข้าไปซื้อหุ้นต่างๆ ในช่วงที่นักลงทุนกล้าเฮละโลกันเข้าไปลงทุน แต่กลับเลือกที่จะซื้อหุ้นตัวเองคืนเรื่อยๆ ด้วยเงินสดที่มีอยู่ เพราะปู่ Warren Buffett มองว่าหุ้นที่ถืออยู่ในพอร์ตของ Berkshire Hathaway เป็นหุ้นที่ถูกที่สุดในตลาดในช่วงนั้นแล้ว
 
ดังนั้น การที่ Berkshire Hathaway เข้าลงทุนดีลต่างๆ ในช่วงปีนี้ เชื่อว่า ปู่คงพกความมั่นใจว่าจะทำกำไรได้ในอนาคตเป็นแน่แท้
 
ฝั่งนักลงทุนทั่วโลกก็มีคำถามสงสัยกันว่า เอ้ะ! หรือตอนนี้เป็นสัญญาณว่าราคาหุ้นถูกแล้วหรือเปล่า? หรือตลาดหุ้นขาลงใกล้จบแล้ว เมื่อมองตัวแปรต่างๆ ก็ยังไม่เคลียร์ และยังตอกย้ำด้วยภาพการเดินเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งสหรัฐฯ และโลกด้วยซ้ำ แล้วปู่ Warren Buffett ไม่กลัวหรืออย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วปู่ก็มีคำตอบให้ในการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ครับ ผมจะมาเฉลยในตอนท้ายนะครับ
 
โจทย์เปลี่ยนจาก ‘เงินเฟ้อพุ่งสูง’ สู่ ‘เศรษฐกิจถดถอย’
"ตราวุทธิ์"  ได้ฉายภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกที่ทำตลาดช็อกกันไป เพราะ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) ติดลบ 1.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ที่ GDP ขยายตัวถึง 6.9% และแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่า ไตรมาสแรกจะเติบโต 1% ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในช่วงต้นปี 2563
 
เมื่อเข้าไปดูไส้ในเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่มีปัญหา คือ การส่งออกหดตัว 5.9% จากที่เคยขยายตัวสูง 22.4% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ซึ่งน่าจะเป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้แต่ Inventory ก็ยังติดลบ -0.84% อาจเป็นเพราะสะสมไว้มากในไตรมาสก่อนหน้าและยังมีเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีก ส่วนการบริโภคส่วนบุคคลเติบโต 2.7% แต่ก็ยังน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ระดับ 3.5% แม้ว่าตัวเลขออกมายังสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 2.5% ก็ตาม ส่วนการนำเข้า การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากอย่างมีนัยสำคัญ
 
สิ่งที่ตลาดกำลังโฟกัสในเวลานี้คือ แนวโน้ม GDP ไตรมาส 2 นี้จะออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากจะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) 2 ครั้ง โดยครั้งแรก 0.25% เมื่อปลายมีนาคม และครั้งที่สอง 0.50% เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้ปัจจุบันดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ 0.75%-1% จะยิ่งกดดันภาคการบริโภคอ่อนแอต่อเนื่องจากไตรมาสแรกหรือไม่ ท่ามกลางปัญหาราคาพลังงานทะยานขึ้นไม่หยุด อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงตาม เศรษฐกิจยุโรปเปราะบาง ภาคส่งออกจะหดตัวต่อเนื่องหรือไม่ และยังมีปัญหาห่วงโซ่อุปทานหลังจากจีนล็อกดาวน์ควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 อีก ซึ่งจะการคลายล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้จะเริ่มวันที่ 1 มิถุนายนนี้ก็ตาม
 
ซึ่งล่าสุด ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 8.3% ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 8.1% ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาน้ำมันและอาหารสด) อยู่ที่ 6.2% สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ 6.0%
 
แม้แต่ ‘Jerome Powell’ ประธาน Fed ถึงกับออกมาขอโทษที่ขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป จนทำให้ไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ และส่งสัญญาณว่าจากนี้ Fed จะดำเนินการขึ้นดอกเบี้ยสูงสุด จนกว่าจะกดเงินเฟ้อลงได้ ขณะที่ Fed Watch Tool แสดงความน่าจะเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนมิถุนายนว่า มีโอกาสสูงถึง 95.4%
 
สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกกลัวมากกว่าเรื่องของเงินเฟ้อสูง ก็คือ หากยิ่งเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง จะยิ่งส่งผลกระทบฉุดเศรษฐกิจสะดุด เพราะภาคบริโภคอาจจะแผ่วลงกว่าไตรมาสแรก และกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่าขึ้นกดภาคส่งออก กระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ล้วนเป็นแรงกดดันต่อ GDP ในไตรมาส 2 อาจจะออกมาติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ซึ่งหมายถึงว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ติดลบติดต่อกันสองไตรมาส ถือเป็นการเดินเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทันที ทั้งๆ ที่ GDP สหรัฐฯ เพิ่งเติบโตเป็นบวกมาได้เพียงปีกว่าเท่านั้น
 
ท่ามกลางคำถามที่ทุกคนอยากรู้ว่า ปัญหาเงินเฟ้อสูงผ่านจุดพีกแล้วหรือยัง

"ตราวุทธิ์" มีคำตอบจากปู่ Warren Buffett ที่ตอบคำถามผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับเงินเฟ้อสูงรอบนี้แตกต่างกับเงินเฟ้อสูงในอดีตอย่างไรนั้น

ปู่ยังอธิบายให้ด้วยว่า เงินเฟ้อรอบนี้เกิดจากมาตรการเยียวยา Covid-19 ในสหรัฐฯ รวมกันมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมาตรการ QE (Quantitative Easing) และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เข้ามาเติมเชื้อไฟ ดังนั้น แม้ว่า Fed จะบอกว่าตอนนี้เงินเฟ้อใกล้แตะจุดสูงสุดแล้ว แต่ปู่กลับบอกว่า “สวรรค์เท่านั้นที่รู้ว่าเงินเฟ้อจะไปหยุดที่เท่าไร”
 
เพราะฉะนั้น สถานการณ์ในช่วงที่เหลือปีนี้ ยากที่จะประเมินได้จริงๆ ครับ ด้วยตัวแปรต่างๆ ซึ่งอาจจะมีเพิ่มในข้างหน้า มาคอยกดดันเศรษฐกิจ อาจไม่ได้เติบโตอย่างที่ Fed ที่ยังคงประมาณการณ์ GDP ปีนี้เติบโต 2%
 
ตลาดหุ้นผันผวน โอกาสลงทุนหุ้นแกร่ง ราคาถูก
จริงๆ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะรับรู้กระแสข่าวแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น และภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวมาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปีนี้ตลาดหุ้นกำลัง price in ต่อกระแสข่าว Fed คุมเงินเฟ้อไม่อยู่ เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง ระหว่างการเดินเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือภาวะเติบโตได้กันแน่?
 
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วงปีนี้ จึงปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะหมี (Bear) ไม่ว่าจะเป็นดัชนี DJIA ปรับตัวลดลง 14.55% ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 18.66% และดัชนี Nasdaq ทรุดหนัก 28.28% 
 
โดยปกติตลาดมองว่า หากดัชนี Nasdaq ติดลบมากกว่า 20% จะถือว่าเข้าสู่ภาวะ Bear Market หรือตลาดหุ้นซึมตัวอย่างเป็นทางการ ส่วนดัชนี S&P 500 และ DJIA ก็ติดลบมากกว่า 10% ถือว่าตลาดหุ้นกำลังปรับฐาน (Correction)
 
ส่องหุ้นผลประกอบการไตรมาสแรกสวย
สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วงนี้ ได้ปรับตัวลงสุดหรือยัง "ตราวุทธิ์"มีคำตอบของปู่ Warren Buffett มาเฉลยครับ

ปู่บอกย้ำหลักการเดิมว่า ตัวเขาจะไม่คาดการณ์ตลาดหุ้นหรือตัวเลขทางเศรษฐกิจอะไรทั้งนั้น แต่จะคอยหาโอกาสลงทุนจากความผันผวนของตลาดหุ้นในระยะสั้นเป็นหลักมากกว่า
 
แม้ตอนนี้คุณอาจจะยังมองไม่ออกว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะซึมอีกนานไหม เพราะมันคืออารมณ์ของนักลงทุนส่วนใหญ่ แต่หลักการลงทุนที่ถูกต้อง ก็คือ สินทรัพย์ที่มั่นใจได้ว่ามีโอกาสเติบโต ในภาวะที่ตลาดหุ้นซึมๆ แบบนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่สินทรัพย์ดีๆ มีราคาถูกลง เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานดี มีผลดำเนินงานที่เติบโตและธุรกิจมีอนาคต
 
ซึ่งช่วงที่ผ่านมา หุ้นสหรัฐฯ หลายตัวเปิดผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ ออกมาสดใสสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ จากภาพรวมของบริษัทจดทะเบียนจำนวน 237 บริษัทที่อยู่ในดัชนี S&P 500 พบว่า มีจำนวนกว่า 81% ของทั้งหมด สามารถทำกำไรได้สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีท อาทิ หุ้น Meta Platform หรือ Facebook เปิดงบการเงินไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิ 7,455 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไรต่อหุ้น 2.72 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ 2.56 ดอลลาร์สหรัฐ รายได้รวม 27,908 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยังมียอดผู้ใช้งาน Facebook เฉลี่ยวันละ 1,960 ล้านบัญชี สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ 1,950 ล้านบัญชี และรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งาน (ARPU) อยู่ที่ระดับ 9.54 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 9.50 ดอลลาร์สหรัฐ
 
หุ้น Twitter รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 กำไรสุทธิตามบัญชี GAPP 513 ดอลลาร์สหรัฐ โดยกำไรส่วนใหญ่มาจากการขายธุรกิจ MoPub แพลตฟอร์มโฆษณาบนมือถือออกไป ส่วนรายได้รวม 1,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16%จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากรายได้โฆษณา 1,107 ล้านดอลลาร์สหรัฐและจาก subscription และธุรกิจอื่นรวมกัน 94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานประจำทุกวันเฉลี่ยที่สร้างรายได้ (monetizable daily active users หรือ mDAU) เพิ่มขึ้นเป็น 229 ล้านบัญชี
 
หุ้น Apple ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ (สิ้นสุด 26 มีนาคม 2565) โกยรายได้ 97,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติใหม่ โดยเพิ่มขึ้น 9%จากช่วงเดียวกันปีก่อน พร้อมรายได้สุทธิประจำไตรมาส 1.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นปรับลด และยังประกาศจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.23 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ยังมีเงินสดหมุนเวียนกว่า 28,000 ดอลลาร์สหรัฐด้วย
 
หุ้นควอลคอมม์ ผู้ผลิตชิพโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้รายงานงวดไตรมาส 2 ของปีงบการเงิน 2565 บริษัทมีกำไรต่อหุ้น 3.21 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ 2.91 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนรายได้อยู่ที่ 11,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 10,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
หุ้นแมคโดนัลด์ ไตรมาสแรก บริษัทมีกำไรต่อหุ้น 2.28 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 2.17 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนรายได้อยู่ที่ 5,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าคาดการณ์ 5,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


จากข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนธุรกิจอเมริกายังมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งอยู่ และบางบริษัทยังทำสถิติใหม่ด้วย และแน่นอนว่า ราคาหุ้นเหล่านี้ได้ปรับตัวขึ้นหลังประกาศตัวเลขงบสวยของไตรมาสแรกออกมา ซึ่งในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีหุ้นอยู่จำนวนมาก อย่างน้อยๆ หุ้นในกลุ่มดัชนี S&P 500 สัดส่วนกว่า 80% ของจำนวนเกือบ 300 บริษัทที่มีกำไรดีกว่าคาด ก็เป็นโอกาสในการเลือกเข้าไปลงทุนหุ้นดีๆ แต่ถ้าไม่พร้อมลงทุน และยังไม่ต้องการรับรู้ผลขาดทุนจริง ผมแนะนำให้รอจนความไม่แน่นอนลดลงก่อนก็ได้ครับ
    
ที่สำคัญ "ตราวุทธิ์"อยากให้กำลังใจนักลงทุนว่า คุณสามารถติดตามข่าวสารได้ แต่อย่าปล่อยให้ข่าวเหล่านี้ ทำให้จิตใจของคุณหวั่นไหว เพราะความผันผวนในตลาดหุ้นมีอยู่ต่อเนื่อง ถือเป็นความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้