BBL- KBANK ใจตรงรุกอินโดฯ ต่างกลยุทธ์แต่แข็งแรง
ธนาคารพาณิชย์ห่างหายไปจากคำว่าซื้อกิจการหรือ M&A ยิ่งในต่างประเทศแทบไม่มีให้เห็นส่วนใหญ่เป็นดีลต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการ หรือไม่ธนาคารไทยควบรวมกิจการกันเอง หากธนาคารใหญ่ของไทยรุกอินโดฯ เป็นการประกาศความพร้อมด้านศักยภาพที่มีดีพอจะใหญ่ในตลาดอาเซียนได้
ดีลล่าสุดคือ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK อนุมัติให้บริษัทย่อย ทำสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไข เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน “ธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indfnesia Tbk) “ อินโดนีเซีย มูลค่าเงินลงทุนไม่เกิน 220 ล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่าประมาณ 7,556 ล้านบาท สัดส่วน 67.50%
การเข้าซื้อครั้งนี้ดูจากผลดีสามารถลดมูลค่าเงินลงทุนที่ต่ำกว่าการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ จากเงินลงทุนขั้นต่ำ 700 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ฐานลูกค้าธนาคารแมสเปี้ยนมีความคล้ายคลึงกับ KBANK จากการเป็นธนาคารท้องถิ่นสามารถเข้าถึงกลุ่มธุรกิจ SME ได้ง่าย ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของ KBANK อยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการนำความเชี่ยวชาญด้าน โมบายแบงกิ้งผ่านแอปพลิเคชัน K-PLUS ที่ถือว่าประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมในไทยค่อนข้างมาก ซึ่ง KBANK ตั้งตั้งเป้าหมายนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้กับกลุ่มลูกค้าในอินโดนีเซีย
จุดนี้ทำให้มองเห็นได้ว่าการที่เลือกธนาคารท้องถิ่น ด้วยขนาดไม่ใหญ่ ไม่มีสาขาหรือตู้ ATM จำนวนมาก แต่สามารถขยายการเติบโตได้ด้วยเทคโนโลยีของ KBANK วางเป้าหมายทำให้ K-PLUS กลายเป็นแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคผ่านกลยุทธ์ดังกล่าว คาดหมายทำให้ธนาคารแมสเปี้ยนเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะ 5 ปีสู่การเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคชวาตะวันออก (East Java) ภายในปี 2570
มุมมองของนักวิเคราะห์ต่อดีลดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) แนวโน้มธุรกิจธนาคารในอินโดนีเซีย ผู้บริหารมองว่ามีโอกาสเติบโตดี โดยรัฐบาลอินโดนีเซียเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัล
หากเทียบราคาที่ซื้อคิดเป็น P/BV ที่ 3.5 เท่า (สูงกว่า P/BV ของ KBANK ที่ 0.7 เท่าและเฉลี่ยของกลุ่มแบงก์ไทยที่ 0.8 เท่า) บน ROE ของแมสเปี้ยนที่ 6.1% (ROE ของ KBANK อยู่ที่ 8.3% และกลุ่ม 7.9%) ธนาคารแมสเปี้ยนฯ เป็นธนาคารขนาดเล็ก ที่มีแผนกลยุทธ์รุกลูกค้าองค์กร, ธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาด ย่อม และลูกค้ารายย่อย ซึ่งคาดว่าดีลนี้จะยังสร้างกำไรส่วนเพิ่มให้กับ KBANK ไม่มากในระยะสั้น แต่จะดีขึ้นในระยะยาว และเป็นการเปิดทางสู่การเป็นธนาคารของภูมิภาคอาเซียน
การประเมินดังกล่าวหากมองในแง่ความได้เปรียบของตลาดอินโดนีเซียถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ด้วยประชาชนที่มีจำนวนมากถึง 273 ล้านคน เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และ อันดับ 4 ของโลก แต่จากข้อมูลทางด้านการเงินปรากฏว่าอัตราการขอสินเชื่อของประชากรยังอยู่ระดับต่ำไม่ถึง 40% เปรียบเทียบกับประเทศไทยมีประชากรน้อยกว่าที่ 73 ล้านคน แต่อัตราการขอสินเชื่อของประชากรมีสัดส่วนกว่า 80%
ดีลก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ทุ่มเงินสดเข้าซื้อธนาคารใหญ่ “ธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค “ ในประเทศอินโดนีเซียเพื่อเข้าถือหุ้น 89.12% มูลค่า 81,017 ล้านบาท และซื้อหุ้นที่เหลือ 10.88% อีก 10,000 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้น 100%
การลงทุนด้วยเม็ดเงินที่สูงดังกล่าวแตกต่างจาก KBANK เพราะเน้นไปที่แบงก์ใหญ่ 1 ใน10 ของอินโดฯ ทันที เพื่อให้ได้ขนาดของธุรกิจ ตามยุทธศาสตร์ของ BBL เป็นผู้นำธุรกิจธนาคาร เพราะมีสาขาในต่างประเทศมากที่สุด 31 แห่ง ใน 14 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งในเอเชียมีทั้งใน จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน นิวยอร์ก ลอนดอน และอินโดนีเซีย มีที่จาการ์ตา 3 สาขา
“เพอร์มาตา” ฐานลูกค้ากว่า 3.5 ล้านราย มีสาขาทั่วประเทศ 330 แห่ง ตู้เอทีเอ็มกว่า 1,000 ตู้ มีฐานลูกค้าองค์กรและเอสเอ็มอี โดยเป็นหนึ่งในธนาคารที่ริเริ่มการให้บริการธนาคารทางโทรศัพท์ มือถือ (Mobile Banking) และเทคโนโลยีการชำระเงินออนไลน์รวมถึง PermataMobile X ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มีกว่า 200 ฟังก์ชัน
จากจุดเด่นของ “เพอร์มาตา” มีความชัดเจนที่จะเข้ามาเสริมจุดที่ยังไม่แข็งแรงของ BBL ได้มาก ยิ่งด้านเทคโนโลยีที่ต้องยอมรับว่ายังตามหลังธนาคารพาณิชย์อื่นค่อนข้างมากแม้จะมีความปลอดภัยมากที่สุดในธนาคารไทยก็ตาม และนั้นหมายถึง BBL สามารถเข้าสู่ตลาดดิจิทัลแบบทันที พร้อมกับป้อนฐานลูกค้า SME ไปด้วย
หากมองเปรียบเทียบกลยุทธ์การตัดสินใจรุกตลาดอินโดนีเซีย แล้วมีความแตกต่างกันชัดเจนฝ่าย KBANK นำด้วยเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องการธนาคารใหญ่ แต่ BBL นำด้วยขนาดที่ใหญ่เพื่อให้ได้เทคโนโลยี และฐานลูกค้ามาสนับสนุนฐานเติบโตในอาเซียน ซึ่งทำให้ตลาดอินโดนีเซีย กลายเป็นอีกสนามแข่งขันของธนาคารไทยไปในตัว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์