คลังคาดเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดไตรมาสสามปีนี้
คลังคาดเงินเฟ้อจะพุ่งสูงสุดไตรมาสของปีนี้ เชื่อทั้งปีจะอยู่ในระดับ 5% โดยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจากผลกระทบสงครามยูเครนยังเป็นปัจจัยหลักที่กดดัน ขณะที่ มาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาลบวกกับไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารจะช่วยให้เงินเฟ้อไม่สูงเมื่อเทียบประเทศอื่น
แหล่งข่าวจาก กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ยังประเมินการขยายตัวของเงินเฟ้อในปีนี้อยู่ที่ 5% และจะสูงสุดในไตรมาสที่สามของปีนี้ โดยปัจจัยราคาน้ำมันที่เป็นความเสี่ยงในการกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับทรงตัว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ใช้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 99.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งช่วงเดียวกันของปีก่อนในขณะนี้ยังอยู่ที่ 97 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลและตอนนี้ยังมีแนวโน้มทรงตัว ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงยังยึดกรอบเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง 4.5 -5.5% เป็นฐานโดยมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 5%
อย่างไรก็ตาม คาดว่า ระดับเงินเฟ้อภายในประเทศจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาสที่สามของปีนี้ เนื่องจาก ฐานเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำในปีที่แล้ว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ระดับเงินเฟ้อของไทยที่ยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นนั่น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหาร และการที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดในบางสินค้า เพื่อควบคุมไม่ให้ระดับราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงมากจนเกินไป รวมถึง มาตรการอุดหนุนด้านพลังงานของรัฐบาล
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ใช้มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตสินค้า และขนส่งสินค้าภายในประเทศ โดยที่ผ่านมาได้ตรึงราคาให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นจากผลกระทบของสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้รัฐบาลประกาศขยับเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงสุดไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร โดยส่วนที่เกินกว่า 30 บาท รัฐบาลและประชาชนจะร่วมกันออกคนละครึ่ง โดยรัฐบาลได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ ปัจจุบันกองทุนนี้มีผลขาดทุนติดลบอยู่กว่า 8 หมื่นล้านบาท
การรายงานระดับเงินเฟ้อของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย.นี้ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้น 4.65%เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 5.73% เนื่องจาก ฐานที่สูงขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้าจากการสิ้นสุดมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในปี 2564 ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มชะลอตัวลง
นอกจากนี้ มีสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด และเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ก๊าซหุงต้มที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นจากการสิ้นสุดระยะเวลาตรึงราคาโดยมีการทยอยปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันได และสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ น้ำมันพืช อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ตามต้นทุนการผลิตและต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังทรงตัวและเคลื่อนไหวในทิศทางปกติสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน
ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 2.00% และเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.- เม.ย.) 2565 เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 4.71% และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 1.58%