ปลาสวยงามไทยกวาดรายได้ 700 ล้านบาท/ปี
ปลาสวยงามไทย เป็นหนึ่งในสินค้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ปลาสวยงามให้ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงเพื่อสร้างสายพันธุ์ให้สวยงามแปลกใหม่
ปลาสวยงามไทย เป็นหนึ่งในสินค้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ปลาสวยงามให้ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงเพื่อสร้างสายพันธุ์ให้สวยงามแปลกใหม่ เพื่อผลักดันให้ปลาสวยงามไทยก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามที่สำคัญอันดับต้นๆ ในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งกระตุ้นธุรกิจปลาสวยงามควบคู่ไปกับการปลูกสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
ปลาสวยงามที่ผลิตในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ เช่น ปลากัด ปลาหางนกยูง ปลาทอง ปลาหมอสี ปลาปอมปาดัวร์ เป็นต้น เป็นปลาที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงของเกษตรกร ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกปลาสวยงามมากกว่า 700 ล้านบาท/ปี โดยปลากัดไทยได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ โดยผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ปีละไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัว มูลค่าการส่งออกปีละมากกว่า 200 ล้านบาท และประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 5 ของโลก รองมาจาก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สเปน และอินโดนีเซีย โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 7.38%
นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ระบุ ภาครัฐประชาชน และชุุมชน ต้องร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทย ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์น้ำพื้นเมืองชนิดต่างๆ ของไทยที่มีความสำคัญ สวยงาม ชุมชนต้องร่วมมือกันดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติที่สัตว์น้ำอยู่อาศัย ปลูกสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สู่การสร้างความสมดุลในการใช้ประโยชน์ให้เกิดความยั่งยืน
ปลาสวยงามพื้นเมืองของไทย นอกจากปลากัด ปลาทรงเครื่อง ปลาลูกผึ้ง ปลากาแดง ปลาหางไหม้ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกแล้ว ยังมีปลาที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศหลายชนิด ที่ไม่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง แต่ได้จากการจับและรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วนำส่งขายในตลาดต่างประเทศ เช่น ปลาก้างพระร่วง ที่ส่งออกมากกว่า 1 ล้านตัว/ปี มูลค่า 8.7 ล้านบาท/ปี และปลาซิวข้างขวาน ส่งออกเกือบ 1 ล้านตัว/ปี มูลค่า 3.5 ล้านบาท/ปี ทำให้ในแหล่งน้ำธรรมชาติมีปลาเหล่านี้จำนวนลดลงอย่างรวดเร็วและอยู่ในสถานภาพสุ่มเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรไทยพัฒนาศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำสวยงามที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก และผลักดันธุรกิจนำไปสู่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสัตว์น้ำสวยงามระดับโลก และปัจจุบันกรมประมงสามารถพัฒนาเทคนิคการเพาะขยายพันธุ์ปลาสวยงามพื้นเมืองของไทยได้เป็นผลสำเร็จ และมีนโยบายในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว และส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ลดการจับจากธรรมชาติ เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาสวยงามไทยให้ยังคงอยู่และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง
ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน