ปลุกธุรกิจอาเซียน ฟื้น "โลกหลังโควิด" ทัศนะบนเวทีโลกของ "นพปฎล เดชอุดม"
“นพปฎล เดชอุดม” ผู้บริหารเครือซีพี ร่วมเวทีระดับโลก UN Global Compact Leaders Summit 2022 ภายใต้แนวคิด “The world we want” ปลุกพลังภาคธุรกิจในอาเซียน เป็นผู้นำขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความยั่งยืน SDGs พร้อมรับมือมรสุม Perfect Storm เร่งฟื้นฟู "โลกยุคหลังโควิด-19"
ในการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2565 หรือ UN Global Compact Leaders Summit 2022 ภายใต้แนวคิด “The world we want” ซึ่งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) และทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Country Team Thailand) จัดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนในเวทีโลก รวมพลผู้นําความยั่งยืน ทั้งในและต่างประเทศจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact Local Networks อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซียและบรูไน มุ่งสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เร่งความก้าวหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและข้อตกลงปารีส เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยมีการถ่ายทอดสดจากไทยไปทั่วโลก ที่มีผู้ร่วมงานกว่า 10,000 คน
นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยการประชุม "UN Global Compact Leaders Summit 2022" ชู 3 วาระสำคัญ ได้แก่ ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาทางสังคมที่ครอบคลุม ยกระดับ SMEs ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สู่อาเซียน และขยายผลไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นางอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา (H.E. Armida Salsiah Alisjahbana) รองเลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) กล่าวเปิดการประชุมว่า เครือข่ายธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแห่งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESBN) ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำจากภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาความร่วมมือเพื่อปฏิรูปธุรกิจสีเขียวแห่งเอเชียแปซิฟิค นำสู่แผนปฏิบัติการของภาคธุรกิจในการดูแลและบรรเทาภาวะโลกร้อน
แสดงถึงความพร้อมในการเป็นผู้นำความยั่งยืนที่จะขยายผลไปยังระดับภูมิภาค โดยเครือข่ายธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแห่งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESBN) จะเป็นผู้นำในการเร่งสร้างเศรษฐกิจและสังคมสีเขียวให้แก่ภูมิภาคนี้
นางสาวแซนด้า โอเจียมโบ (Sanda Ojiambo) ผู้ช่วยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UN Global Compact กล่าวว่า จุดประสงค์สำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือมุ่งชักชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายให้ใส่ใจการวัดความก้าวหน้าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจัดการกับช่องว่างและความรู้ ตลอดจนทรัพยากรและเงินทุน รวมถึงเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือต่างๆ ผ่านการสร้างเครือข่ายผู้นำระดับโลก
โดยโครงการในวันนี้เป็นผลจากความพยายามร่วมกันของเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact ในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน และไทยทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ การทำงานของ UN Global Compact นั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก โดยตั้งเป้าที่จะเร่งสร้างผลกระทบเชิงบวกโดยรวมของธุรกิจและส่งมอบ SDGs ผ่านบริษัทต่างๆ ที่มีความรับผิดชอบ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติร่วมเป็นเจ้าภาพจัดเวทีระดับเอเชียแปซิฟิก UNGC Leaders Summit 2022 : Sustainability in ASEAN โดยนายนพปฎล เดชอุดม ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและผู้นำธุรกิจไทย ร่วมกับ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต และนายลี จอร์จ แลม (Lee George Lam) Chair of the ESCAP Sustainable Business Network (ESBN) ที่ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ พร้อมกระตุ้นการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคอาเซียนอย่างจริงจัง เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักการพัฒนาความยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาแนวทางร่วมกันในการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งเป็นสิ่งที่ UN Global Compact มองว่าเป็นวาระสำคัญของโลกที่ต้องได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากนางสาวกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นผู้กล่าวปิดวงเสวนา
นายนพปฎล กล่าวว่า แม้ขณะนี้อาเซียนและทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาถูกท้าทายจากความยากลำบากอย่างหนักหน่วง แต่ทว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ การระบาดใหญ่ของโควิด ความขัดแย้งในยูเครน ผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานและส่งผลต่อสินค้าโภคภัณฑ์ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั้งหมดกระทบต่อกันเป็นห่วงโซ่ นำโลกเข้าสู่มรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่ หรือ Perfect Storm สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนให้เราได้คิดทบทวน และเร่งเดินเครื่องเรื่องของความยั่งยืนในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบทบาทความรับผิดชอบของภาคธุรกิจทั่วโลกที่จะต้องออกมาร่วมกำหนดวาระความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
"UN Global Compact เกิดขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทของภาคธุรกิจที่พร้อมมีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเด็นด้านความยั่งยืนในมิติต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษทางอากาศและทางน้ำ รวมไปถึงประเด็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งภาคธุรกิจมีศักยภาพที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ธุรกิจจะต้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา"
จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจต่างๆ กำลังเข้ามามีส่วนร่วมตามเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ทั้งในด้านการจัดการด้านพลังงานสะอาด การจัดการลดมลพิษพลาสติกซึ่งประเทศไทยเคยอยู่อันดับ 6 ในการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลโดยขณะนี้ลดอันดับลงมาเป็นอันดับ 9 ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทั้งหมดนี้ยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของโลกต่ำกว่า 2 องศาได้ และยังคงยากที่จะไปถึงเป้าหมายของการลดอุณหภูมิต่ำกว่า 1.5 องศาให้ได้ ทั้งนี้จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องได้รับความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในอาเซียนและทั่วโลกในการหากลยุทธ์และวิธีการแก้ปัญหา เพื่อหาทางออกร่วมกันในการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทุกมิติ
“วันนี้ผู้นำภาคธุรกิจมารวมตัวเพื่อขับเคลื่อนประเด็น SDGs ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม การหารือครั้งนี้มุ่งเน้นในประเด็นที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนจะก้าวมามีบทบาทสำคัญในวาระสำคัญของโลกนี้อย่างไรบ้าง ตามนิยาม ‘building back better, together’ หรือ การร่วมกันฟื้นและสร้างโลกใหม่ให้ดีขึ้นไปด้วยกันในยุคหลังโควิด-19 ที่ครอบคลุมตั้งแต่สภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาสังคม ซึ่งการที่ผมพูดถึงมรสุมลูกใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญหน้า หรือ Perfect Storm นั้น มองในแง่บวก คือเราจะได้เตรียมตัวให้พร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตท่ามกลางเวลาที่เหลือน้อย จึงสำคัญอย่างมากที่เราต้องรีบออกมาขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติในอนาคต” นายนพปฎล กล่าว
นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือซีพี โดยนายพีรพงศ์ กรินชัย รองประธานกรรมการบริหาร สำนักวิศวกรรมกลาง เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ "Climate & Biodiversity" เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านภาคธุรกิจในกลุ่มอาหารและการเกษตร
การประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2022 ถือเป็นการรวมตัวของผู้นำภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งจากภาคธุรกิจชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์,บมจ. บางจากคอร์ปอเรชั่น, ลอรีอัล, อิเกีย รวมไปถึงผู้บริหารจากบริษัทกฎหมาย และการจัดการทางธุรกิจระดับโลก เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ เป็นต้น