"อนุสรณ์ ธรรมใจ" แนะเก็บภาษีหุ้น-คริปโทฯ นำเงินมาใช้ดูแลวิกฤตพลังงานอาหารแพง
"อนุสรณ์ ธรรมใจ" ชี้งบประมาณปี 66 ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ภายใต้พลวัตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป หนุนจ่ายบำนาญชราภาพถ้วนหน้าอย่างต่ำ 3,000 บาท/เดือน เลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า 1,500 บาท/เดือน เรียนฟรีถึงปริญญาตรี แนะเก็บภาษีหุ้น-คริปโทฯ นำเงินมาดูแลผลกระทบราคาพลังงานอาหารแพง
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึง งบประมาณปีพ.ศ. 2566 ว่า การจัดทำงบประมาณปีพ.ศ. 2566 นั้นต้องเป็นการจัดทำงบประมาณบนฐานความคิดใหม่ วิธีการใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ ไม่คิดแยกส่วน เน้นบูรณาการ ภายใต้พลวัตเศรษฐกิจการเมืองโลกเปลี่ยนไปหลังสงครามปูตินรัสเซียยูเครน
ภายใต้ภาวะปรกติใหม่หลังโควิด ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและการแตกตัวของฟองสบู่ในตลาดการเงิน รวมทั้งการเร่งตัวของผลกระทบ New Technology Disruption และความตึงเครียดที่ลดลงของสงครามการค้าจีนสหรัฐ แต่ถูกแทนที่โดยสงครามคว่ำบาตรระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก
หากไม่จัดทำงบประมาณแบบใหม่ภายใต้พลวัตใหม่แล้ว งบประมาณจะไม่ได้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาวิกฤติที่ประชาชนเผชิญอยู่ และไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างอนาคตให้ประเทศ
การมีสัดส่วนงบประมาณประจำสูงถึง 75.26% และมีงบเพื่อการลงทุนเพียงแค่ 21% เม็ดเงินลงทุนเพียง 6.95 แสนล้านบาทย่อมไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจ ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ ไม่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆในประเทศ ไม่สามารถสร้างงานที่มีคุณค่าและเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนได้
โดยภาพรวมแล้ว รัฐสภาควรพิจารณาตัดงบประจำลงมาให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 70 % และเพิ่มงบลงทุนให้อยู่ที่ 26-30% ของวงเงินงบประมาณ นอกจากนี้ควรกำกับควบคุมการก่อหนี้สาธารณะไม่ให้ทำงบประมาณขาดดุลเกิน 3% ของจีดีพี ในปี พ.ศ. 2566 (รัฐบาลประมาณการขาดดุลงประมาณอยู่ที่ 3.88% ของจีดีพี ก่อหนี้สาธารณะเพื่อชดเชยการขาดดุลประมาณ 6.95 แสนล้านบาท)
หากการขาดดุลและกู้ชดเชยเกิน 3% ของจีดีพีอาจก่อให้เกิดปัญหาวินัยและฐานะการคลังในระยะยาวได้ ขณะนี้หนี้สาธารณะคงค้างของประเทศอยู่ที่ 9.95 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 60.6% ของจีดีพี นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดสรรงบกว่ากว่า 5.90 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 18.6% ของวงเงินงบประมาณซึ่งถือว่าสูงเกินไปเพราะงบกลางไม่มีรายละเอียดโครงการการใช้เม็ดเงินภาษีประชาชน
หากย้อนกลับไป 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้ได้จัดสรรงบกลางสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท วงเงินงบกลางดังกล่าว รัฐสภาสามารถตรวจสอบกลั่นกรองการใช้งบประมาณได้อย่างจำกัด บางท่านจึงเรียกการจัดงบกลางเหมือน “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาล รัฐบาลที่ยึดถือวินัยการเงินการคลังจะไม่ทำเช่นนี้ หรือ รัฐสภาที่รับผิดชอบต่อประชาชนจะไม่ปล่อยให้การจัดสรรงบประมาณแบบนี้ผ่านไปโดยง่าย จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนและปรับลดงบกลางลงมา และ ควรนำไปจัดสรรให้ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ถูกได้รับการจัดสรรลดลงถึง 4.5 พันล้านบาท
การจัดสรรงบยังคงใช้วิธีการจัดสรรรายจ่ายตามหน่วยรับงบประมาณ (ตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ) เป็นหลักคิดเป็น 34.2% ขณะที่จัดสรรผ่านรายจ่ายเชิงบูรณาการเพียง 6.9% ของวงเงินงบประมาณ การไม่เปลี่ยนวิธีคิดในการจัดสรรงบประมาณทำให้การบริหารราชการแผ่นดิน อาจมีความซ้ำซ้อน อาจต่างคนต่างทำ ไม่บูรณาการกัน เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณและไม่ก่อให้เกิดประสิทธิผลใดๆ
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า งบประมาณปี 2566 ต้องเปลี่ยนงบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenditure) ให้เป็นงบค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน (Capital Expenditure) เพิ่มขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยใช้วิธีการจัดทำงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์แบบฐานศูนย์ (Zero-Based and Strategic Budgeting) เน้นการมีส่วนร่วมในการจัดงบประมาณแบบกระจายอำนาจ ดึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ การจัดทำงบประมาณแบบนี้จะนำมาสู่การปฏิรูประบบราชาการ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณและเงินนอกงบประมาณ ลดการใช้งบประมาณสิ้นเปลื้องและไม่เหมาะสม
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การกู้เงินหรือก่อหนี้สาธารณะของรัฐเพื่อนำมาใช้จ่ายที่มีความจำเป็นนั้นสามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว เราต้องเข้าใจว่า งินเหล่านี้จะเป็นหนี้สาธารณะที่ประชาชนผู้เสียภาษีต้องร่วมกันรับผิดชอบ ต้องใช้ในโครงการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมายตามยุทธศาสตร์
การใช้งบประมาณฐานศูนย์แบบมียุทธศาสตร์กำกับ (Zero-Based and Strategic Budgeting) โดยมีเป้าหมาย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน ตัดงบดำเนินการที่ไม่จำเป็นและงบที่ไม่ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศออกให้หมด จัดสรรงบประมาณที่กองไว้ที่ส่วนกลาง กระจายไปยัง อบจ. และ อบต. ทั่วประเทศ จะทำให้เงินภาษีของประชาชนถูกใช้โดยผู้ที่ประชาชนเลือกเข้าไปทำหน้าที่เพิ่มขึ้น
การก่อหนี้สาธารณะจำนวนมากจะสามารถทยอยชำระคืนได้ในอนาคตหากเศรษฐกิจขยายตัวได้ในระดับไม่ต่ำกว่า 3-4% เป็นอย่างน้อย และ รัฐบาลในอนาคตต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีและเก็บภาษีทรัพย์สินให้ได้มากพอ ขณะนี้รัฐบาลได้ขยับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไปเป็น 70% แล้ว รัฐบาลปัจจุบันและอนาคตต้องบริหารภายในกรอบนี้ให้ได้ และควรปรับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้ลงมาอยู่ที่ 60% ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2568
รัฐบาลสามารถก่อหนี้เพิ่มได้ แต่ไม่ควรใช้วิธีเอาเงินไปแจก ควรเพิ่มการลงทุน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ มาชำระหนี้ในอนาคต เงินกู้ของรัฐหรือการก่อหนี้สาธารณะต้องนำเงินกู้มาใช้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องวางแผนหาวิธีในการคืนเงินกู้ทุกครั้ง เพื่อลดผลกระทบที่จะเป็นภาระต่อรัฐบาลและประชาชนผู้เสียภาษี และเราต้องตระหนักว่าทุกๆ การใช้จ่ายของรัฐบาลจากเงินกู้ ย่อมหมายถึง ภาษีที่จะต้องเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อนำจ่ายเงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า งบประมาณปี 66 ควรเป็นกลไกที่สนับสนุนการจ้างงาน การเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของประชาชน ขณะนี้อุปสงค์มวลรวมกระเตื้องขึ้นบ้างแล้วจากการเปิดประเทศ แต่ประชาชนจำนวนมากยังไม่มีรายได้ตามปรกติ ภาคธุรกิจโดยรวมยอดขายยังไม่ฟื้นกลับสู่ระดับเดียวก่อนเกิดวิกฤติโควิดและวิกฤติสงครายูเครน หนี้เสียเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงบ้าง หนี้ครัวเรือนพุ่งแตะระดับ 91% ของจีดีพี หนี้ส่วนนี้มีโอกาสกลายเป็นหนี้เสีย เนื่องจากครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงมาก และยังเผชิญค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจากราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น
ให้ติดตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นให้ดี เพราะสิ่งนี้จะกระทบปัญหาหนี้ในทุกระดับทุกมิติของไทย ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ หรือหนี้สาธารณะ
งบประมาณปี 2566 ควรสนับสนุนการลดรายจ่ายในชีวิตของประชาชนด้วยสวัสดิการโดยรัฐ ควรสนับสนุนให้เกิดความคืบหน้าสู่การเป็นรัฐสวัสดิการด้วยจ่ายบำนาญชราภาพถ้วนหน้าอย่างต่ำ 3,000 บาทต่อเดือน จ่ายอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้า 1,500 บาทต่อเดือน และเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี
โดยเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีกำไรจากตลาดการเงิน ตลาดหุ้นและตลาดคริปโตในอัตราก้าวหน้า นอกจากนี้ ควรปรับลดการดูงานต่างประเทศ รถยนต์ประจำตำแหน่ง การก่อสร้างอาคารสำนักงานหรูหราเกินฐานะการคลังประเทศ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน นำเม็ดเงินเหล่านี้มาออกเป็น “มาตรการดูแลผลกระทบราคาพลังงานและราคาอาหารแพง” ก่อน โดยสามารถออกเป็นมาตรการแจกคูปองอาหารให้กับครอบครัวมีรายได้น้อยโดยเฉพาะคนจนในเมือง นำมาเป็นงบสนับสนุนชดเชยราคาพลังงานให้กับประชาชนและภาคการผลิต เพิ่มงบประมาณในการจ่ายสมทบให้กองทุนประกันสังคม
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การเดินหน้าลงทุนระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพิ่มเติมมีความสำคัญต่อประเทศและเศรษฐกิจอย่างมาก ระบบชลประทานที่ดีจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และทำให้เราสามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี ประเทศไทยจะได้ไม่สูญเสียโอกาสในการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรในช่วงวิกฤตการณ์อาหารโลกในขณะนี้
ประเทศของเรานั้นมีปริมาณน้ำฝนประมาณ 780,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีความต้องการใช้น้ำในประเทศ 150,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีการบริหารจัดการน้ำและกักเก็บน้ำในระบบชลประทานได้ประมาณ 100,000 กว่าล้านลูกบาศก์ ที่เหลือต้องมีการพัฒนระบบชลประทานเพิ่มเติมให้รองรับความต้องการอีกไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตร งบที่จัดสรรในปี พ.ศ. 2566 จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หากต้องการให้สามารถทำเกษตรกรรมได้ทั้งปีในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ ต้องนำปริมาณน้ำฝนที่ปล่อยทิ้งลงทะเลทุกปีหลายแสนล้านลูกบาศก์เมตรเข้าสู่ระบบชลประทาน และ แม่น้ำคูคลองของเรา
เสนอให้โยกงบประมาณโยกเม็ดเงินจากการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้ในการลงทุนระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังสามารถตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นได้อีกมาก เช่น ตัดงบทดสอบ GT 200 เนื่องจากมีข้อยุติแล้วว่าเป็นเครื่องมือทำขึ้นมาเพื่อหลอกขายให้กองทัพและหน่วยราชการไทยและมีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการทุจริตคอรัปชันจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นต้น