Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 6 June 2022
ราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับสูง หลังยุโรปเห็นพ้องลดนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ขณะที่จีนเริ่มคลายการปิดเมือง
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 111-121 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 มิ.ย. – 10 มิ.ย.65)
ราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับสูง เนื่องจากตลาดยังกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หลังสหภาพยุโรปคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันรัสเซียโดยตั้งเป้าลดการนำเข้าลง 90% ของการนำเข้าทั้งหมด ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจีนเริ่มคลายมาตรการเข้มงวดต่างๆ ในเมืองเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง และเริ่มเปิดเมืองเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียไปยังจีนและอินเดียที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ประกอบกับกลุ่มโอเปคพลัสที่พิจารณาระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียชั่วคราวในข้อตกลงด้านการผลิตของกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกที่เหลือปรับเพิ่มกำลังการผลิตแทนที่รัสเซียได้ อาจส่งผลให้ตลาดมีอุปทานน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
- ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัวมากขึ้นหลัง การประชุมสหภาพยุโรปวันที่ 30-31 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา มีข้อสรุปที่จะลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียลง 90% ภายในปีนี้ โดยจะยกเลิกการนำเข้าทางทะเลทั้งหมด ยกเว้นเพียงบางประเทศ ได้แก่ สโลวาเกีย ฮังการี และสาธารณรัฐเช็ก ที่นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียปริมาณมาก ให้นำเข้าผ่านท่อ Druzhba ได้ต่อเนื่อง เพื่อมีเวลาในการเตรียมตัว
- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนมีแนวโน้มดีขึ้น โดยล่าสุดจีนได้เริ่มเปิดเมืองเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา ขณะที่การแพร่ระบาดในเมืองปักกิ่งมีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน ทำให้จีนมีการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่างๆ ได้แก่ การลดระยะเวลาของการกักตัว การอนุญาตให้เปิดบริการสถานที่สาธารณะได้ มีเพียงบางเขตที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อและมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่ยังคงใช้มาตรการเข้มงวด
- EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบคงคลังของหสรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ค. 65 ปรับตัวลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินที่ปริมาณการใช้เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงฤดูกาลขับขี่ ขณะที่ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ค. 65 ปรับลดลง 1 แท่น จากที่เพิ่มขึ้นกว่า 14 แท่น แตะระดับที่ 728 แท่น เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63
- Kpler รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบรัสเซียทางทะเลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนพ.ค. 65 ปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับ 80 ล้านบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 11 ล้านบาร์เรลเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากการส่งออกไปยังจีนและอินเดียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอินเดียที่นำเข้าน้ำมันรัสเซียเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย. 65 ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันดิบของรัสเซียที่มีราคาถูก ประกอบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้หลายโรงกลั่นในอินเดียปรับเพิ่มการผลิตเพื่อให้ได้ค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้นและรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจริง
- กลุ่มโอเปคพลัสกำลังพิจารณาที่จะระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียชั่วคราวในข้อตกลงด้านการผลิตของกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อให้ประเทศซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ยังคงมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (Spare Capacity) เหลืออยู่ และประเทศสมาชิกรายอื่นๆ ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทดแทน การผลิตที่อาจลดลงของรัสเซียได้ ทั้งนี้ หากกลุ่มโอเปคพลัสสามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าแผนเดิมที่ผลิตอยู่ที่ 432,000 บาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือนก.ย. 65 ได้ จะถือว่าสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ และยุโรปก่อนหน้านี้ ที่เรียกร้องให้ทางกลุ่มเร่งปรับเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อช่วยบรรเทาราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูง
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1/65 ของสหภาพยุโรป ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 4.6% y-o-y โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในระดับที่ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า และดุลการค้าของจีนเดือนพ.ค. 65 ตลาดคาดกาณ์มีแนวโน้มเกินดุลที่ระดับ 50.65 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเกินดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.12 พันล้านดอลลาร์ฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 พ.ค. - 03 มิ.ย. 65)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.87 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 119.72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 112.29 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังจาก EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ปรับลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่สหภาพยุโรเห็นพ้องในการลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียผ่านทางทะเลให้ได้ถึง 90% ของการนำเข้าทั้งหมด ภายในปี 2565 ขณะที่ยังคงผ่อนผันให้มีการนำเข้าผ่านทางท่อได้อยู่ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนมีแนวโน้มดีขึ้น ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. 65 นี้