“เอสซีจี” ยกชั้นธุรกิจ ผนึก “ไมโครซอฟท์” ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม
“เอสซีจี” ผนึก “ไมโครซอฟท์” สร้างความร่วมมือธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า หนุนศักยภาพเอสซีจีเป็นองค์กรดิจิทัลครบวงจร รักษาผู้นำตลาด โตระดับโลก เร่งพัฒนาทักษะบุคคลากรดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการ ตอบโจทย์ลูกค้า หนุนโลกธุรกิจเมตาเวิร์ส
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภาคเอกชนรับรู้ถึงการเกิดเทคโนโลยีดิสรัปชันโดยมีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งส่งผลให้ตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก ซึ่งเทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มาเปลี่ยนวิถีชีวิต อาทิ การใช้จ่ายไร้เงินสด การซื้อของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรดิจิทัลจึงเป็นการเดินทางที่ต้องเร่งให้เกิดขึ้น เพื่อก้าวข้ามผ่านวิกฤติและรักษาตำแหน่งของเอสซีจีที่ยืนอยู่แถวหน้าของตลาดได้ โดยที่ผ่านมา เอสซีจีได้นำเทคโนโลยีมาผสานกับการดำเนินงานรอบด้าน ประกอบด้วย
1.พัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี อาทิ “SCG Bi-ion” เทคโนโลยีไอออนกำจัดเชื้อโรคในอากาศ “SCG IoT Sensing Thermostat” ระบบควบคุมเครื่องปรับอากาศไร้สายอัจฉริยะ เพื่อการประหยัดพลังงาน และ “CPAC BIM” เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการออกแบบก่อสร้างแม่นยำ ลดการสูญเสียทรัพยากรและคุ้มค่าการลงทุน
2.บริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า เช่น แพลตฟอร์ม “TRUCK GO” ระบบจัดการบริหารงานขนส่ง สำหรับผู้ประกอบการและบริษัทขนส่งขนาดกลาง-เล็ก ช่วยประหยัดต้นทุนจากการลดเวลาทำงานได้ 60% และแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ “Prompt Plus” ช่วยบริหารจัดการต้นทุนและสต๊อกสินค้าให้แก่ร้านค้ารายย่อยที่มีทั่วประเทศกว่า 10,000 ราย
3.พัฒนากระบวนการผลิต ยกตัวอย่าง เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโปรเจกต์ บอนไซ (Bonsai) ของไมโครซอฟท์ มาพัฒนาเทคโนโลยี “Digital Twin” หรือตัวแทนเสมือน ที่ช่วยประเมินผลเพื่อปรับรูปแบบการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การเปลี่ยนเกรดเม็ดพลาสติก การปรับสายการผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้แม่นยำมากขึ้น แต่ใช้เวลาน้อยลง
หนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม
“ที่ผ่านมาเอสซีจีมองการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเป็นตัวช่วยดำเนินธุรกิจ แต่ในภาพอนาคตต้องการเปลี่ยนผ่านให้ดิจิทัลเป็นตัวละครหลักในการเสริมศักยภาพของเอสซีจีเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น โดยการยกระดับความร่วมมือกับไมโครซอฟท์สู่การพันธมิตรทางธุรกิจครั้งนี้ จะป็นอีกก้าวสำคัญของเอสซีจีในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน สอดรับกับยุคดิจิทัลที่มีทางเลือกหลากหลายและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว”
เบื้องต้นเอสซีจีได้ลงทุนในโครงการดังกล่าวแล้ว 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบการลงทุนเพื่อการพัฒนานวัตกรรมราว 1-2% ของยอดขายต่อปี อยู่ที่ปีละ 6,000-10,000 ล้านบาท
นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน เอสซีจีซี กล่าวว่า ธุรกิจเคมิคอลส์ถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่ความร่วมมือของไมโครซอฟท์ช่วยให้บริษัทก้าวข้ามข้อจำกัดของโรงงานและคนที่คิดว่าเคยมี โดยความร่วมมือในโครงการที่ชื่อว่า โปรเจกต์ บอนไซ ถือเป็นการบุกเบิกการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ให้เกิดขึ้นบน Digital Twin
สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวคือการสร้างสนามทดสอบจำลองการผลิตบนโลกดิจิทัล สร้างการทดลองและคำนวณซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อหาวิธีการผลิตที่ดีที่สุด ซึ่งปัจจุบัน ช่วยให้โรงงานต้นแบบลดระยะเวลาผลิตลงถึง 40% ลดการเกิดของเสีย และลดการปล่อยคาร์บอน
หนุนเอสซีจีโตระดับโลก
นางแอนเดรีย เดลลา แมทเทีย ประธานไมโครซอฟท์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดทำให้ทุกคนเห็นผลกระทบของดิจิทัลดิสรัปชั่นชัดเจน ส่งผลให้องค์กรเอกชนในทุกระดับตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง จนถึงขนาดใหญ่ รวมไปถึงองค์กรภาครัฐเร่งปรับตัวและสร้างดิจิทัลทรานส์ฟอร์มให้เกิดขึ้นในองค์กร
โดยความร่วมมือกับเอสซีจีซึ่งถือเป็นบริษัทเอกชนแถวหน้าของไทยที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 109 ปี จะเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทั้ง 2 องค์กรและช่วยให้เอสซีจีเติบโตได้ในระดับโลก รวมถึงสานต่อวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ ที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกคนและทุกองค์กรบนโลกเติบโต สอดคล้องกับเอสซีจี ในการเป็นผู้สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับคนไทย
ทั้งนี้ ความร่วมมือ 5 ปี จะร่วมพัฒนานวัตกรรม สินค้า บริการและโซลูชันที่ตอบโจทย์เทรนด์แห่งอนาคตด้วยเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์, การเรียนรู้ของระบบคอมพิวเตอร์, เมตาเวิร์ส และควอนตัม คอมพิวเตอร์ ร่วมกับข้อมูลดิจิทัลลูกค้าในอาเซียนของเอสซีจี
ลุยโลกธุรกิจเมตาเวิร์ส
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์เชื่อว่าเทคโนโลยีจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตและสังคมได้ดีที่สุด โดยจะมาเสริมความแข็งแกร่งให้เอสซีจีด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ใน 3 ด้าน ได้แก่
1.การเพิ่มความ “ตรงใจ” ท่ามกลางสภาพตลาดและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเสนอผลิตภัณฑ์และข้อมูลสินค้าที่ตรงกับความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าแต่ละคน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นตัวช่วยลูกค้าในการพิจารณา เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ในร้านค้า เอสซีจี โฮม และช่องทางออนไลน์ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าเชิงลึกบน Digital Commerce Platform
2.เสริมความ “ฉับไว” ในทุกก้าว เช่น โครงการ “Smart Manufacturing Campus Solution-CPAC Green Solution” ในธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างได้นำเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และเมตาเวิร์ส มาผสานเครื่องจักร คน และกระบวนการทำงานเข้าด้วยกัน
3.ต่อยอดความ “ล้ำเทรนด์” เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ในอนาคต ด้วยการยกระดับกระบวนการพัฒนานวัตกรรมให้เร็ว และสร้างการมีส่วนร่วม เช่น การคิดค้นนวัตกรรมผ่านโลกเสมือนในเมตาเวิร์ส เพื่อเปิดให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญจากเอสซีจี
นอกจากนี้ จะร่วมพัฒนาทักษะบุคคลากรด้านดิจิทัลให้พนักงานทุกระดับด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือของไมโครซอฟท์ที่เป็นรากฐานสำคัญในการปฏิบัติงาน อาทิ แพลตฟอร์มคลาวด์ Azure, โซลูชัน Dynamics และ Microsoft 365 ที่รองรับการทำงานของบุคลากรทั่วทั้งองค์กร ไปจนถึงการทำดีพเทคเทรนนิ่งคลาสสำหรับบุคคลากรไอทีระดับสูง