ธ.ก.ส. ลุยแก้หนี้เกษตรกร วางแผนทางการเงิน

ธ.ก.ส. ลุยแก้หนี้เกษตรกร วางแผนทางการเงิน

ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.เป็นผู้ให้สินเชื่อกับเกษตรกรเกือบ 5 ล้านราย โดยมีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ชำระหนี้ไม่ได้ตามปกติโดยการพักชำระหนี้ ยืดเวลาชำระหนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ระบุ ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.เป็นผู้ให้สินเชื่อกับเกษตรกรเกือบ 5 ล้านราย โดยมีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ชำระหนี้ไม่ได้ตามปกติโดยการพักชำระหนี้ ยืดเวลาชำระหนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ และการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชระยะสั้นไม่เกิน​ 45 วัน​ เพื่อให้มีรายได้อย่างรวดเร็ว​ เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถสร้างรายได้นำมาชำระหนี้ โดย ธ.ก.ส.จะเติมเงินให้เกษตรกรในเรื่องของการลงทุนโรงเรือน เมื่อปลูกครบกำหนดก็แบ่งสรรปันส่วนทำข้อตกลงว่าส่วนหนึ่งเป็นค่าบริหาร ส่วนหนึ่งเป็นการเก็บออมการลงทุนในรอบถัดไป และอีกส่วนหนึ่งเป็นการชำระหนี้ เป็นการวางแผนทางการเงินของเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

ด้านผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ระบุ ธ.ก.ส.มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเป็นทุนในการทำการเกษตรโดยมีเป้าหมายเพิ่มสินเชื่อปีนี้อยู่ที่  5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว มีนักท่องเที่ยงเข้ามา รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น สิ่งหนึ่งที่ ธ.ก.ส.จะเข้าไปช่วยคือการจะทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารลดต้นทุนการผลิต โดยการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายในเรื่องเทคโนโลยีการเพาะปลูก การแปรรูป การพัฒนาแพคเกจจิ้ง เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ ธ.ก.ส.มุ่งมั่นที่จะให้พี่น้องเกษตรกรมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ รวมไปถึงความรู้ในการทำการเกษตร

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี” กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อนำผลงานวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาบูรณาการให้เกิดความยั่งยืนแก่ภาคเกษตรทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดที่เป็นมาตรฐานและต่อยอดสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ในการนำไปใช้ประโยชน์และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก 

เป็นการบูรณาการในการพัฒนาสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่โดยนำผลงานวิจัยทั้งด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาปรับปรุง พัฒนาการผลิต การแปรรูปผลผลิต และการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรอย่างตรงจุด รวมถึง ประยุกต์ต่อยอดสู่การจดทะเบียนสิทธิบัตร เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังร่วมกันจัดฝึกอบรม ประชุมวิชาการ การเผยแพร่ประสบการณ์ และการร่วมประชาสัมพันธ์ของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

โดยในปี 2561-2564 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ร่วมมือกับ วว.และ EXIM  Bank เข้าไปเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ(SMES) จำนวน 30 ราย อาทิ วิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎา ผลิตชา กาแฟ สบู่กาแฟ กาแฟคั่ว วิสาหกิจชุมชน ลองเลย ผลิตกาแฟอาราบิก้า วิสาหกิจชุมชนออมสินกะลา ผลิตภัณฑ์จากกะลา บริษัท แบมบุรีฟอร์ม จำกัด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไผ่ และถ่านไม้ไผ่ บริษัท ชันโฟรเช่น ฟรุ๊ต จำกัด ผลิตทุเรียน และมังคุด บริษัท บ้านขนมไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตขนมกล้วยหอมทองทอดกรอบ เป็นต้น

ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว สามารถช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการด้านการเกษตรได้เป็นอย่างดี จึงวางเป้าหมายที่จะขยายแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคเกษตรไทย ควบคู่กับการเติมทุน