'สัญญาคุณธรรม' กุญแจสำคัญป้องกันการทุจริตโครงการใหญ่ใน กทม.
เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น ตั้งคณะทำงานร่วมผู้ว่าฯกทม. ตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างใน กทม. สร้างความโปร่งใส หนุนใช้สัญญาคุณธรรมคุมทุจริต จับตาโครงการประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม - รื้อสัญญาสายสีเขียว จี้เปิดข้อมูลให้สาธารณะรู้ทุกขั้นตอน
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด เป็นการได้รับชัยชนะแบบถล่มทลายแลนสไลด์ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้คะแนนเสียงกว่า 1.3 ล้านคะแนน นำมาซึ่งความหวังหลายอย่างในการสร้างการเปลี่ยนแปลง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าฯชัชชาติกล่าวถึงการทำงานของ กทม.ในยุคที่ตนเป็นผู้ว่าฯว่าจะเน้นความโปร่งใส การเปิดเผยของข้อมูล และการตรวจสอบจากภาคประชาชน โดยหนึ่งในองค์กรที่จะดึงมามีส่วนร่วมในการช่วยตรวจสอบการทุจริตในโครงการสำคัญๆใน กทม.ก็คือ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ “ACT”
“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ ดร.มานะ นิมิตรมงคล กรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตฯ และเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เกี่ยวกับแนวทางการร่วมมือตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันที่ ACT จะสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่างๆที่ กทม.กำลังดำเนินการอยู่รวมทั้งกำลังจะดำเนินการต่อไปในอนาคต
ดร.มานะกล่าวว่าในเบื้องต้นได้หารือกับผู้ว่าราชการ กทม.ว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในกทม.ที่ผ่านมาทำให้ กทม.ขาดการพัฒนาที่ทันสมัยที่เทียบเท่ากับหลายมหานครของโลก เพราะว่าแม้จะมีงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมากในแต่ละปี แต่การใช้งบประมาณหลายส่วนยังขาดความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน
ตัวอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เป็นปัญหาที่ค้างคามานาน แต่ข้อมูลต่างๆที่จะเปิดเผยให้สาธารณะชนได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงก็ยังถือว่าน้อยมาก
นอกจากนี้จากการหารือกับหลายฝ่ายพบว่าการเก็บรวบรวมข้อมูล โครงการต่างๆใน กทม.นั้นก็ขาดการจัดระบบข้อมูลที่ดี เป็นระบบ ทำให้ที่ผ่านมาการขอใช้ข้อมูลเพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงในโครงการต่างๆจึงสามารถทำได้ยาก โดยในเรื่องนี้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของ กทม.อย่าง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามและทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ยังทำงานในการตรวจสอบที่ยาก
ซึ่งในส่วนนี้ควรจะมีการปรับปรุงเรื่องการจัดเก็บและการจัดระเบียบข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และหน่วยงานอย่าง ป.ป.ช.และ สตง.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้มากขึ้น
โดยการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ว่าฯชัชชาติกับ ACT เบื้องต้นได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริต
คอร์รัปชันโดยมีตัวแทนจากทั้งฝ่าย กทม.และ ACT เพื่อติดตามการประมูล จัดซื้อจัดจ้างต่างๆใน กทม.โดยจะมีการประชุมกันเป็นประจำเดือนละครั้ง โดยนอกจากเรื่องการป้องกันการทุจริตยังมีการหารือเรื่องการป้องกันปัญหาส่วย สินบนในกทม.ไม่ให้เกิดขึ้นด้วย
สำหรับแนวคิดเรื่องการนำเอาข้อตกลงสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ลงนามร่วมกัน 3 ฝ่ายในการจัดทำ ข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐ หน่วยงานเอกชน และผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อมาใช้เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้าง หรือโครงการประมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐถือว่ามีความจำเป็นที่ควรจะนำมาใช้เพื่อให้เกิดการตรวจสอบร่วมกันของหลายๆฝ่าย
อย่างไรก็ตามนอกจากการนำเอาสัญญาคุณธรรมมาใช้ในการเริ่มต้นโครงการด้วยการเซนสัญญาแล้ว หน่วยงานภาครัฐควรมีการกำกับดูแลให้ภาคเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินโครงการปฎิบัติตามสัญญาคุณธรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะจากการติดตามของ ACT พบว่ามีโครงการโรงไฟฟ้าขยะขนาดใหญ่อย่างน้อยสองโครงการในพื้นที่ กทม.เมื่อได้สัญญาสัมปทานจากภาครัฐแล้วก็ไม่ดำเนินการตามสัญญาคุณธรรมอย่างต่อเนื่อง
“ข้อกำหนดตามสัญญาคุณธรรมที่ ครม.ให้ความเห็นชอบไว้ ถือเป็นเครื่องมือที่ดีในการติดตามโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ แต่ที่ผ่านมาใน กทม. มี 2 โครงการที่น่าผิดหวัง เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่ถูกร้องเรียนมาก โดยทั้งสองโครงการเริ่มต้นนั้นใช้สัญญาคุณธรรม แต่พอดำเนินการไปเรื่อยๆแล้ว เริ่มบ่ายเบี่ยงไม่ทำตามสัญญาคุณธรรม มีการนัดประชุมในเรื่องนี้เพื่อสอบถาม เวลามีปัญหาที่มีประชาชนร้องเรียนมาแต่ก็ไม่มีตัวแทนจากบริษัทมาร่วมการประชุม โดยมีการบ่ายเบี่ยงด้วยเหตุผลต่างๆนานาโดยตลอด”
ดร.มานะกล่าวต่อว่าในส่วนของการประมูลโครงการขนาดใหญ่ใน กทม.ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ที่มีการเปิดประมูลครั้งใหม่เพื่อหาเอกชนผู้ร่วมลงทุน ACT ก็กำลังจับตาดูโครงการนี้เช่นกัน เพราะเริ่มมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล ที่อาจมีการเขียนข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติที่กำหนดเป็นการเฉพาะไว้ให้สำหรับบริษัทที่มีคุณสมบัติบางอย่างเข้าร่วมประมูลเป็นการเฉพาะ โดยเรื่องของการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มกับการทบทวนสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นต้องดูควบคู่กันไป
โดยประเด็นของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ACT ต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องของสัญญาที่มีปัญหาอยู่ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าจะมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ในแนวทางใด เพื่อไม่ให้การแก้ปัญหาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ หรือซ้ำรอยปัญหาเดิมที่อาจตามมาในอนาคต