อีโคซิสเต็มพลังงานสะอาด ตอบสนองนักลงทุนพื้นที่ “อีอีซี”
การลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กำลังถูกใช้เป็นมาตรการทางการค้าเพิ่มมากขึ้น โดยสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศนโยบาย EU Green Deal มีผลให้มีการ ร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ที่มีกำหนดบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2566
กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซ นำร่องสินค้า 6 รายการ คือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ยและไฟฟ้า จากนั้นวันที่ 1 ม.ค.2569 สินค้าต้องผ่านการรับรอง CBAM
ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนต้องการผลิตสินค้าสีเขียวและต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 100% ในขณะที่เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในไทยส่วนมาจากก๊าซธรรมชาติ 54% รองลงมาเป็นถ่านหิน 17% ไฟฟ้านำเข้า 16% พลังงานหมุนเวียน 11% พลังงานน้ำ 2% และน้ำมัน 0.3%
ส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยในปี 2564 อยู่ที่ 244.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนปล่อยจากภาคการผลิตไฟฟ้าสัดส่วน 36.2% รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรม 30.1% ภาคขนส่ง 28.3% และอื่นๆ 5.4%
กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการควบคุมปริมาณการปล่อยคาร์บอนสู่อากาศที่ก่อให้เกิดจากมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขณะนี้สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างแก้ไขกฎระเบียบใหม่เพื่อรองรับการซื้อไฟฟ้าสะอาดที่มาจาก พลังงานหมุนเวียน ตอบสนองความต้องการของนักลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ขณะนี้นักลงทุนต่างต้องการสินค้าสีเขียว และการผลิตสินค้าแต่ละชิ้นต้องมาจากไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด 100%
“อนาคตการจะผลิตสินค้าแล้วส่งออกไป EU หากไม่เป็นกรีนจะไม่สามารถส่งออกไปได้แล้ว ทุกวันนี้ก็เริ่มมีการกีดกันทางการค้าเกิดขึ้น ดังนั้นไทยเป็นประเทศที่มีฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกขนาดใหญ่ จะต้องแก้กฎหมายออกมารองรับเรื่องนี้ด้วย"
อีกทั้งการแก้กฎระเบียบยังรวมถึงผู้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดที่มาจากพลังงานหมุนเวียนจะซื้อขายไฟได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคาดว่ากฎระเบียบที่ปรับแก้จะแล้วเสร็จในปี 2565
ดังนั้น การจะเร่งประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero ต้องทำกรอบแผนพลังงานชาติ เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ 20 ปี ทั้งการลงทุนเทคโนโลยี นวัตกรรม เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดเป้าหมาย 3 ด้าน คือ
1.สนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยคาร์บอนภายในปี 2065-2070
2.สร้างศักยภาพการแข่งขันและการลงทุนของผู้ประกอบการของไทย สามารถรับตัวเข้าสู่การลงทุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามทิศทางโลก ตลอดจนใช้ประโยชน์จากการลงทุนในนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
3.สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายการปลดปล่อย GHG ของประเทศระยะยาว
นอกจากนี้ ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปพลังงานสะอาดต้องใช้เวลา เหมือนโทรศัพท์ระบบ 2G มาระบบ 5G โดยช่วงแรกมีต้นทุนสูง ดังนั้นสิ่งที่ต้องกระตุ้นในช่วงนี้เพื่อนำสู่ Net Zero ต้องมีมาตการ 4D ประกอบด้วย
1.D-carbonization ลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้า โดยเพิ่มพลังงานหมุนเวียนแทนถ่านหิน ซึ่งกำหนดสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ 4,500 เมกะวัตต์ โดยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในเขื่อน 9 แห่ง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมเป็น 800 เมกะวัตต์ โดยสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะชุมชน 800 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการแล้ว 105 เมกะวัตต์ จากเชื้อเพลิงชีวมวล จากวัสดุเหลือใช้เกษตรมาแปรเปลี่ยนเป็นพืชพลังงาน
นอกจากนี้ มีเทคโนโลยี CCUS การกักเก็บก๊าซคาร์บอนและเอามาใช้ประโยชน์ โดยขณะนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.เริ่มเก็บก๊าซคาร์บอนในแท่นขุดเจาะก๊าซปิโตรเลียมและน้ำมันในอ่าวไทย คือ แท่นอาทิตย์ เป็นโครงการนำร่อง รวมถึงการนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาเปลี่ยนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นก๊าซไฮโดรเจนและกักเก็บเอาไว้เพื่อปล่อยมาผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาด
2.D-digitalization โดยนำอินเตอร์เน็ตออฟติงมาใช้ในภาคพลังงาน หรือ Internet of Energy โดยใช้ AI จัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูล และใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เข้าสู่ระบบสมาร์ทกริดรวมถึงสายส่งอัจฉริยะที่ดูว่าใช้ไฟเท่าไหร่และมีหน่วยงานเก็บเงิน แต่มิเตอร์สมัยใหม่จะเก็บและรับเงินจากไฟฟ้าส่วนเกินที่มาจากหลังคาและชาร์จไฟกลับเข้าระบบมิเตอร์เป็น Digital Twin
3.D-centralization ถือเป็นการใช้โรงไฟฟ้าขนาดเล็กเริ่มต้นที่ 3-10 เมกกะวัตต์ ที่เปลี่ยนจากระบบไฟฟ้าแบบเดิมให้เป็นระบบไมโครกริดสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบจ่ายไฟระบบใหญ่ สามารถขายไฟฟ้าออนไลน์ ซึ่งเป็นไฟฟ้าสะอาดมนราคาที่ถูกลง
4.D-regulation เมื่อทั้ง 3D สำเร็จ ทั้ง ปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่และกฎระเบียบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นเวลา 30 ปี จะต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่