อัพเดตธุรกิจ! 26 อาชีพใดบ้างไม่ต้องจด VAT

อัพเดตธุรกิจ! 26 อาชีพใดบ้างไม่ต้องจด VAT

เจ้าของธุรกิจที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีไปแล้ว และกำลังจะ "จดภาษีมูลค่าเพิ่ม" ควรเช็กให้แน่ใจก่อนว่าตนเองอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับยกเว้นหรือไม่

ตามหลักการแล้วไม่ว่าใครก็ตามที่มีรายได้จากการค้าขายและบริการ ทั้งที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เมื่อมีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี

โดยในธุรกิจบางประเภทอาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ยกเว้น VAT หากอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด หรือบางธุรกิจที่กฎหมายบังคับให้ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากเป็นไปตามเงื่อนไขก็จะได้รับยกเว้นเช่นกัน และอีกหลายๆ ธุรกิจที่ถึงแม้จะได้รับยกเว้นแต่ถ้ามีความประสงค์จะจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็สามารถทำได้

ดังนั้น เจ้าของธุรกิจที่ดำเนินกิจการจนมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีไปแล้ว และกำลังจะจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรเช็กให้แน่ใจก่อนว่าตนเองอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับยกเว้นหรือไม่ รวมถึงใครที่กำลังมองหาธุรกิจเป็นของตัวเอง ก็ควรทราบก่อนว่าธุรกิจที่ตนเองสนใจนั้น เป็นธุรกิจที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

หากเป็นธุรกิจที่ไม่ต้อจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะทำให้การดำเนินธุรกิจคล่องตัวยิ่งขึ้น หมดกังวลเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะมีธุรกิจใดบ้างต้องไปติดตาม

  • ทำความรู้จักกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือภาษีที่เก็บจากมูลค่าการซื้อขายและการให้บริการภายในประเทศ รวมถึงสินค้านำเข้า ซึ่งปัจจุบันภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% โดยกฎหมายมีการบังคับให้ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากรายได้ทั้งหมดของธุรกิจ ยกเว้นรายได้จากงานประจำไม่ต้องนำมาคำนวณ

และให้ยื่นจดไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท พร้อมกับนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไป แต่ถ้าหากมีรายได้ตลอดทั้งปีเท่ากับ 1.8 ล้านบาทพอดี ยังถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ก็จะได้รับการยกเว้นยังไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • ประเภทธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจด VAT

ธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม และกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นแต่สามารถขอจดภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้

1.ธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม คือธุรกิจที่กฎหมายกำหนดว่า หากประกอบธุรกิจตามประเภทที่กฎหมายกำหนด แม้ว่าจะมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ก็ไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประกอบด้วย

1.1 ผู้ประกอบการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี

1.2 ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย

1.3 ผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร

1.4 ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 43)

1.5 ผู้ประกอบการอื่นตามที่อธิบดีจะประกาศกำหนดเมื่อมีเหตุอันสมควร

2.ธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มีสิทธิ์แจ้งขอจดภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งธุรกิจบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นไม่นำมานับรวมเป็นรายได้ที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มีสิทธิแจ้งขอจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

2.1 ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน

2.2 ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย และมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี

2.3 การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยท่าอากาศยาน

2.4 การส่งออกของผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

2.5 การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร

โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ที่มีความประสงค์จะจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ยื่นคำขอแจ้งใช้สิทธิ์เพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01.1 จำนวน 1 ชุด 3 ฉบับ พร้อมกับคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01

  • อาชีพใดบ้างที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจด VAT

ประเภทธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นทั้ง 5 ประเภทดังที่กล่าวไปแล้ว สามารถแยกย่อยเป็นอาชีพที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจด VAT แม้ว่าจะมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ดังนี้

1.สินค้าหรือบริการที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี

2.การขายปลาป่น อาหารสัตว์

3.การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น

4.การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยาน หรือเรือเดินทะเล

5.การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์

6.การให้บริการนักแสดงสาธารณะ เฉพาะบริการในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

7.การให้บริการงานทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

8.การนำเข้าสินค้า

9.การให้บริการผู้ประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ

10.การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์

11.การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น แต่ไม่รวมบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้หรือผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม

12.การค้าขายสัตว์มีชีวิตและไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อส่วนต่างๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์

13.ขายยาหรือเคมีภัณฑ์พืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษาป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์

14.การขายสลากกินแบ่งของรัฐบาล

15.การให้บริการสถานศึกษาราชการและเอกชน

16.การให้บริการทางวิจัยและวิชาการ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการตามที่กรมสรรพากรกำหนด

17.การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน

18.การขายสินค้าและบริการเพื่อประโยชน์แก่ศาสนาและการกุศล

19.การให้บริการขนส่งในประเทศ

20.การขายสินค้าและบริการให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย

21.การขายพืชผลทางการเกษตรภายในราชอาณาจักร

22.การให้บริการรักษาพยาบาล

23.การให้บริการสีข้าว

24.การค้าขายปุ๋ย

25.การค้าขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร

26.การขายแสตมป์ไปรษณีย์ แสตมป์อากร หรือแสตมป์อื่นของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เฉพาะที่ยังไม่ได้ใช้ในราคาที่ไม่เกินมูลค่าที่ตราไว้ (อาชีพที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 81)

สรุป

หากใครกำลังจะลงหลักปักฐานทำธุรกิจของตัวเองสักอย่าง นอกจากเลือกธุรกิจที่ถนัด เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว อาจต้องศึกษาเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย และช่วยประหยัดภาษีได้ด้วย

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่