"เงินบาทอ่อนค่า" แตะ 35 บาทต่อดอลลาร์ ในรอบ 5 ปี ใครได้ ใครเสีย ?
สรุปใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ "เงินบาทอ่อนค่า" แรงสุดรอบ 5 ปี แตะ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังค่าเงิน "ดอลลาร์แข็งค่า" ลุ้นเฟด "ขึ้นดอกเบี้ย" 0.75%
สถานการณ์ "เงินบาทอ่อนค่า" เป็นอีกเรื่องที่สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้ โดย "ค่าเงินบาท" วันที่ 15 มิ.ย. 65 แตะระดับ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 15 มิ.ย. 65) ซึ่งอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยปัจจัยหลักคืออ่อนลงตาม "ดอลลาร์แข็งค่า" รวมถึงตลาดและนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75%
แน่นอนว่าการอ่อนค่าของ "เงินบาท" ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับเงินสกุลต่างประเทศ ในทิศทางตรงกันข้ามกับช่วงที่ "เงินบาทแข็ง"
โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อเงินบาทอ่อนค่า โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ และกลุ่มที่เสียประโยชน์ ดังนี้
- กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อน
ผู้ส่งออก: รายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ แลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
คนทํางานต่างประเทศ: รายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ มาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
ธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ: รายได้แลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
- กลุ่มที่เสียประโยชน์จากเงินบาทอ่อน
ผู้นําเข้า: ต้นทุนการนําเข้าสินค้าสูงขึ้น เพราะราคาสินค้าจากต่างประเทศแพงขึ้น
ประชาชน: ซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศแพงขึ้น
ผู้ลงทุน: นําเข้าสินค้าต้นทุนแพงขึ้น เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ
ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ: มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น เพราะใช้เงินบาทมากขึ้นในการชําระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ
- "ค่าเงินบาท" จะเป็นอย่างไรต่อไป ?
ด้านนักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาด ธนาคารกรุงไทย ได้มองแนวโน้มค่าเงินบาทไว้ว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนหนักในวันนี้ จนถึงช่วงรับรู้การประชุมเฟด โดยการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น มาจากปัจจัยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นหลัก
ซึ่งปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดและนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมครั้งนี้และการประชุมในเดือนกรกฎาคม ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดอาจ “Sell on Fact” เงินดอลลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้บ้าง หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างต่อเนื่อง หรือเฟดแสดงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาททะลุระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ อาจทำให้ฝั่งผู้ประกอบการบางส่วน โดยเฉพาะในฝั่งผู้นำเข้าวิตกกังวลและเร่งเข้ามา "ซื้อเงินดอลลาร์" อาจยิ่งหนุนให้ "เงินบาทผันผวน" ในฝั่งอ่อนค่าไปสู่ระดับ 35.10-35.15 บาทต่อดอลลาร์ได้
---------------------------------------------
อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรุงเทพธุรกิจ