นักเศรษฐศาสตร์หวั่น เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง ฉุดเศรษฐกิจโลกถดถอยเร็วกว่าคาด

นักเศรษฐศาสตร์หวั่น เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง ฉุดเศรษฐกิจโลกถดถอยเร็วกว่าคาด

แบงก์ชาติชี้เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 ปี หวั่นเฟดทำนโยบายการการเงินเข้มขึ้น ส่งผลกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ย้ำพร้อมติดตามเงินบาทใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลหากเงินบาทผันผวนมากกว่าปกติ ด้านทีทีบี คาดมีโอกาสกนง.นัดประชุมวาระพิเศษ หากเงินเฟ้อพื้นฐานพุ่ง

    การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากขึ้น โดยวานนี้(15 มิ.ย.) เปิดตลาดที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับที่อ่อนค่าเกือบรอบ 6 ปี จากความกังวลของตลาดเงิน เกี่ยวกับการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ที่ตลาดคาดว่า อาจมีการใช้ยาแรง หรือขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่เฟดคาดครั้งก่อนที่คาดขึ้นเพียง 0.50% แต่จะขึ้นถึง 0.75%

      ความกังวลจากการอ่อนค่าของเงินบาท กลับมาเป็นประเด็นสำคัญที่ตลาดจับตามองอีกครั้ง ภายใต้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ไปถึงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)อาจประชุมนัดพิเศษ เพื่อขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่า การประชุมปกติในส.ค. หากเงินไหลออกรุนแรง ฉุดเงินบาทอ่อนค่ามาก หรือภายใต้เงินเฟ้อที่อาจปรับตัวขึ้นแรง จนการทำนโยบายการเงินรอช้ากว่านี้ไม่ได้

ธปท.พร้อมดูแลเงินบาท 

     นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวผันผวนและอ่อนค่าแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี เป็นผลจากการคาดการณ์ของตลาดว่าการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในคืนนี้ จะเร่งดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม และความกังวลต่อโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง

      ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี ขณะที่สกุลเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทปรับอ่อนค่าลง 4.5% ส่วนเงินสกุลอื่นในภูมิภาคอ่อนค่าระหว่าง 3% ถึง 7%

  สำหรับการลงทุนของต่างชาติยังมีฐานะเป็นซื้อสุทธิในสินทรัพย์ไทยประมาณ 1.5 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี โดยแบ่งเป็นหุ้น 1.3 แสนล้านบาท และพันธบัตร 2 หมื่นล้านบาท

     ทั้งนี้ธปท. ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อความผันผวนมากผิดปกติ

เงินบาทอ่อนค่าเกาะภูมิภาค

    นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี กล่าวว่า การปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องของค่าเงินบาทล่าสุดแตะระดับกว่า 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลักๆมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาท ยังมีทิศทางอ่อนค่าได้มากขึ้นกว่านี้ หากตลาดกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

    “การอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลบวกต่อผู้ส่งออก ภาคท่องเที่ยว แต่กลับเป็นภาระต่อผู้นำเข้าให้มีภาระสูงขึ้น”

      อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทะลุ 35บาทต่อดอลลาร์ไม่น่ากังวล เพราะเงินบาทเคลื่อนไหวตามภูมิภาค ที่ส่วนใหญ่อ่อนค่าเช่นเดียวกันกัน โดยตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทถือว่าอ่อนค่าระดับกลางๆ หากเทียบกับ ค่าเงินเยน ญี่ปุ่นที่อ่อนค่ามากไปถึงระดับ 15% วอน เกาหลีใต้ อ่อนค่า 8% หรือริงกิต มาเลเซีย ที่อ่อนค่า 5.8%

      ทั้งนี้ระยะถัดไป มองว่าโอกาสที่จะเห็นเงินบาทไปแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ได้ เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรอบก่อนหน้านี้ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าทันทีไปที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้งภายใต้ตลาดกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลาดยิ่งมีความกังวลมากขึ้น ทำให้ตลาดเงินมีความผันผวนต่อเนื่อง

ลุ้นกนง.นัดประชุมวาระพิเศษขึ้นดอกเบี้ย

     อย่างไรก็ตามมองว่า โอกาสที่กนง. จะมีการนัดประชุดนัดพิเศษ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีจุดกระตุ้น หรือ Trigger point หากเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง และลามไปสู่เงินเฟ้อพื้นฐานให้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3-4% จาก 2.2% ก่อนหน้านี้ ก็มีโอกาสที่กนง.อาจมีการนัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อปรับดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าคาดได้ ก่อนการประชุมกนง.รอบปกตินัดถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 10 ส.ค.2565

เฟดชี้ขาดเงินทุนไหลออก

     นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปสู่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ตั้งแต่เดือนก่อนหน้า ว่าบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากในไตรมาส 2 ปีนี้ จากการปรับนโยบายการการเงินของเฟดที่เร็วและแรงขึ้น มีโอกาสที่จะเห็นดอกเบี้ยปลายปีของสหรัฐกว่า 3%

     ดังนั้นการใช้นโยบายดอกเบี้ยที่เร็วและแรง ต่อเนื่อง อาจส่งผลทำให้เกิดเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่ไม่พร้อมขึ้นดอกเบี้ยอย่างไทย ซึ่งเหล่านี้จะยิ่งฉุดเงินบาทยิ่งอ่อนค่าแรงมากขึ้น

      อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่ากนง. ไม่น่าจะมีการนัดประชุมนัดพิเศษ แต่ถามว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็มีโอกาส หากเงินบาทอ่อนค่าไปแรงทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ เงินไหลออกอย่างรุนแรง จากผลของการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาด

ตลาดเงินโลกป่วนฉุดศก.ถดถอยแรง

     นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การที่ตลาดเกิดความปั่นป่วนมากขึ้น หลักๆ มาจากการที่เฟดมองว่า การทำนโยบายการเงินรอได้ เพราะเงินเฟ้อไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่คาด ซึ่งถือว่าเป็นการคิดผิดพลาด ทำให้เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแรงกว่าคาด เฟดจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินอย่างเร็วและแรงขึ้น

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตลาดกังวล จากการทำนโยบายการเงิน คือ คนเริ่มกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะเชื่อว่า หากเฟดยิ่งใช้ยาแรง หรือขึ้นดอกเบี้ยเกิน 0.50% โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะพัง และทรุดมากขึ้น หากดูในอดีต การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารหลักพบว่า ขึ้นดอกเบี้ย 14 ครั้ง มักจบด้วยภาวะถดถอยถึง 11 ครั้ง

     ดังนั้นวันนี้ตลาดมีความกังวลมากจากการทำนโยบายการเงินของเฟด ตลาดกังวลว่าเฟดจะดึงสภาพคล่องกลับ ซึ่งยิ่งทำให้ตลาดยิ่งเกิดความผันผวน อีกทั้งต้นทุนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อาจทำให้สหรัฐมีหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ 0.25% สร้างภาระหนี้ให้สหรัฐถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัญ หากเทียบกับหนี้ปัจจุบันที่มีอย่างมหาศาลที่ 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

 โบรกฯจี้กนง. เร่งขยับดอกเบี้ย 

    นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า กรณีที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ มีทิศทางไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง สะท้อนผ่านเดือนมิ.ย. ต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยออกมาต่อเนื่อง จากช่วง 5 เดือนแรกต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1.4 แสนล้านบาท ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี อยู่ที่ 7.1%

    ดังนั้นธปท. จึงเริ่มส่งสัญญาณจะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว สะท้อนผ่านการประชุมกนง.รอบล่าสุด เริ่มเสียงแตกโดยมีมติ 4 : 3 “คง” ดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ซึ่งคาดว่าในการประชุม กนง. ครั้งต่อไปจะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่คาดว่าจะปรับขึ้นระดับ 0.75% 

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในการประชุม กนง. ครั้งต่อไปคาดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่ก็ยังถือว่าต่ำ และคาดการณ์ปลายปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 1% ขณะที่ดอกเบี้ยสหรัฐคาดการณ์ 3.25-3.50%

    “การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของ กนง. จะช่วยชะลอฟันด์โฟลว์ต่างชาติได้ ดีกว่าไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะหากไม่ขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งทำให้ต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่องในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า”

    นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตอนนี้เงินบาทมีความผันผวนหนัก ดังนั้นมีโอกาสที่จะเห็นฟันด์โฟวล์ต่างชาติไหลออกจากหุ้นไทย แต่คาดว่าด้วยการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะทำให้เงินบาทผันผวนน้อยลง

    โดยนับตั้งแต่โควิด-19 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 3 แสนล้านบาท และปัจจุบันกลับมาซื้อสุทธิราว 1.4 แสนล้านบาท ดังนั้นเชื่อว่ายังมีช่องว่างให้ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยได้