6 มาตรการลดค่าครองชีพรอบใหม่ ช่วยประชาชน

6 มาตรการลดค่าครองชีพรอบใหม่ ช่วยประชาชน

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ส่วนมาตรการลดค่าครองชีพอื่นที่จะหมดอายุวันที่ 30 มิ.ย.2565 ที่ประชุมให้ต่ออายุเกือบทุกมาตรการยกเว้นการลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ส่วนมาตรการลดค่าครองชีพอื่นที่จะหมดอายุวันที่ 30 มิ.ย.2565 ที่ประชุมให้ต่ออายุเกือบทุกมาตรการยกเว้นการลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม โดยจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า โดยจะใช้งบประมาณกลางดำเนินการ

นอกจากนี้กระทรวงการคลังเสนอมาตรการการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยมาตรการส่งเสริมการประชุม จัดสัมมนา หรือนิทรรศการในต่างจังหวัด ซึ่งหากบริษัทเอกชนไปจัดงานการประชุม สัมมนา หรืออีเวนท์ในต่างจังหวัดจะลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งในจังหวัดเมืองหลักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า และเมืองรองลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-31 ธ.ค.2565

สำหรับมาตรการที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ที่เป็นมาตรการเดิมจากที่เคยอนุมัติเพื่อใช้ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.2565 ได้แก่ 

1.การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มจาก 45 บาท เป็นเดือนละ 100 บาท  

2.การให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน

3.การให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม

4.การขอความร่วมมือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ให้สิทธิ์ผู้ขับขี่แท๊กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน เพื่อซื้อในราคากิโลกรัมละ 13.62 บาท 

5.การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.2565 หลังจากนั้นรัฐบาลช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง

6.การกำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้ม โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป 

ส่วนมาตรการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 จะเสนอ ครม.อีกครั้งก่อนมาตรการหมดอายุ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มกิโลกรัมละ1 บาท หรือถัง 15 กิโลกรัม ปรับขึ้น 15 บาท รอบใหม่อีก 3 เดือนติดต่อกันนั้น ถือเป็นการช่วยลดภาระผลกระทบจากกองทุนน้ำมันที่ติดลบกว่า 91,089 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 54,574 ล้านบาท และบัญชีก๊าซแอลพีจี ติดลบ 36,515 ล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นเดือน มิ.ย.2565 จะติดลบทะลุ 100,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภาระหลักของกองทุนน้ำมันอีกภาระคือการอุดหนุนน้ำมันดีเซลลิตรละกว่า 10 บาท ใช้เงินเดือนละราว 18,000 ล้านบาท อีกทั้ง กองทุนน้ำมันยังประสบกับปัญหาการกู้เงิน ซึ่งแม้แต่ธนาคารรัฐเองยังไม่มีความมั่นใจที่จะปล่อยกู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง รัฐบาลต้องคิดหนักถึงการหาเงินมาอุดหนุน ดังนั้น การลดภาระแอลพีจี ที่แม้ว่าจะเดือนละ 200 ล้านบาท รวม 600 กว่าล้าน แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
“ดูแล้วประชาชนทั่วไปที่ใช้แอลพีจีน่าจะรับได้ เพราะกระทรวงพลังงานต่อมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อาทิ พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.2565 สำหรับผู้ใช้สิทธิ 4 ล้านราย รวมงบ 220 ล้านบาท จึงน่าจะรับได้กับราคาที่ปรับขึ้น หากเทียบราคาแอลพีจีประเทศเพื่อนบ้านที่สูงมากกว่าเรามาก ประชาชนในประเทศน่าจะพอเข้าใจในจุดนี้”