เปิดเหตุผลทำไมคนไทยเตรียมจ่ายค่าไฟเดือน ก.ย.-ธ.ค. แพงกว่าเดิม

เปิดเหตุผลทำไมคนไทยเตรียมจ่ายค่าไฟเดือน ก.ย.-ธ.ค. แพงกว่าเดิม

สำนักงานกกพ. เปิดเหตุผลทำไมคนไทยเตรียมจ่ายค่าไฟเดือน ก.ย.-ธ.ค. แพงกว่าเดิม โดยมีโอกาสสูงกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย เหตุต้นทุน ค่าก๊าซฯ และน้ำมัน ยังแพง ขณะที่เงินบาทอ่อน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า แนวโน้มการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดสุดท้ายของปีนี้ (เดือนก.ย.– ธ.ค. 2565) มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากประมาณการไว้เดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย ประกอบด้วย

1. สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 40% จากเดิมที่คาดว่าจะใช้ 30% หลังต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้น

2. กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลง

3. การรับก๊าซธรรมชาติจากเมียนมามีแนวโน้มลดลง

4. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 35 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมประมาณการอยู่ที่ 33 บาท

สำหรับการปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปีนี้จะเป็นเท่าไหร่ ต้องรอประเมินสถานการณ์ค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริงอีกครั้งในช่วงกลางเดือนมิ.ย.นี้ เบื้องต้นคาดว่าค่าไฟงวดสุดท้ายของปีนี้ จะไม่ถึง 5 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ กกพ. ได้วางแนวทางบริหารจัดการต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นแบบระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วย

1. ยืดการปลดโรงไฟฟ้าแม่เหมาะจากเดิมปี2564 ออกไปเป็น ปี2565 เพื่อลดการนำเข้า LNG ในที่มีราคาแพงเข้ามาผลิตไฟฟ้า

2. รับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม คาดว่าจะมีปริมาณ 100 เมกะวัตต์

3. เร่งการเปิดคลังรับ-จ่าย LNG แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) จากเดิมจะเสร็จปลายปีนี้ เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้น

4. ปรับหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ (Energy Pool Price) ถือเป็นการเปิดโอกาสให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงผลิตเพื่อผลิตไฟฟ้าตามสถานการณ์ต้นทุนในขณะนั้น โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ

5. เปิดเสรีนำเข้าก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา เพื่อเกิดการแข่งขันนำเข้าก๊าซฯ

ในขณะที่แผนการบริหารจัดการระยะยาว คือ การปรับโครงการบริหารจัดการพลังงานในอนาคต LNG/Domestic Gas และแผนจัดหา เก็บและใช้ก๊าซฯ ระยะยาวอย่างเป็นธรรม เช่น เรื่อง LNG Terminal และจำนวน Tanks รวมถึงการวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน ให้สอดคล้องกับแผนการจัดหาเชื้อเพลิง ตลอดจนมุ่งความสำคัญเรื่องของ Low Carbon แบบชาญฉลาด