BTS-BEM ออร่าจับ "ผู้โดยสารรถไฟฟ้า" พุ่ง
หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลายไปมาก ทำให้ล่าสุด ศบค. ประกาศให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นพื้นที่สีเขียว หรือ พื้นที่เฝ้าระวัง
พร้อมกับผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มเพิ่มเติม ทั้งการยกเลิก Thailand Pass และข้อกำหนดเงินประกันการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่ม 1 ก.ค. นี้ รวมทั้งผ่อนคลายการใส่หน้ากากอนามัย โดยให้ถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งที่อากาศเทได้สะดวก
ไม่จำเป็นต้องตรวจวัดอุณหภูมิ ยกเว้นในสถานที่เสี่ยงและพื้นที่โรคระบาด รวมทั้งขยายเวลาเปิดให้บริการสถานบันเทิง และตรวจ ATK เฉพาะผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการทางเดินหายใจเท่านั้น
ขณะนี้สถานการณ์ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับตอนที่ยังไม่เกิดโรคระบาด จะเห็นว่าขณะนี้การจราจรกลับมาหนาแน่น โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เปิดเทอม รถกลับมาติดเป็นปกติ
ขณะที่อีกหนึ่งการเดินทางหลักของคนกรุงเทพฯ “รถไฟฟ้า” ทั้งบนดินและใต้ดิน ทุกวันนี้โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ก่อนเข้าเรียน เข้าทำงาน และหลังเลิกงาน ผู้โดยสารเต็มขบวน
สะท้อนจากตัวเลขผู้โดยสารของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเดือน พ.ค. อยู่ที่ 10.4 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้น 148.4% จากช่วงเดือน พ.ค. ปีก่อนที่ 4.2 ล้านเที่ยว และเพิ่มขึ้น 30% จากเดือน เม.ย. ที่มีผู้โดยสารรวม 8 ล้านเที่ยว
ส่วนรถไฟฟ้าใต้ดินของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM คึกคักขึ้นเช่นกัน จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเดือน พ.ค. 2565 อยู่ที่ 2.3 แสนเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้น 155.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 9 หมื่นเที่ยวต่อวัน และเพิ่มขึ้น 28.49% จากเดือนก่อน ซึ่งมีผู้โดยสารเฉลี่ย 1.79 แสนเที่ยวต่อวัน
แนวโน้มผู้โดยสารของ BTS และ BEM จะฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง หลัง ศบค. เตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นสถานการณ์ทุกอย่างคงกลับสู่ภาวะปกติมากยิ่งขึ้น และถ้าหากไม่มีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น คาดว่าจำนวนผู้โดยสารปี 2566 จะกลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด
โดยบล.ทิสโก้ ระบุว่า จำนวนผู้โดยสารทั้งระบบในเดือน พ.ค. เติบโตต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเปิดประเทศ การเปิดภาคเรียน ประกอบกับหน่วยงานต่างๆ ลดการทำงานที่บ้าน กลับมาทำงานตามปกติ ซึ่งข้อมูลล่าสุดจาก BTSGIF พบว่าจำนวนผู้โดยสารในวันทำงานช่วงต้นเดือน มิ.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ 4.3-4.6 แสนเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดือน พ.ค. อยู่ที่ 3.9 แสนเที่ยวต่อวัน
เช่นเดียวกับทาง BEM เปิดเผยว่า จำนวนรถใช้ทางด่วนช่วงต้นเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 1.1 ล้านคันต่อวัน ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่เฉลี่ย 1.1-1.2 ล้านคันต่อวัน ขณะที่ผู้โดยสารรถไฟฟ้าวันทำงานอยู่ที่ 3.1 แสนเที่ยวต่อวัน เทียบกับช่วงเดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 3.69 แสนคนต่อวัน
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีสมมติฐานจำนวนผู้โดยสารปีนี้ของ BTSGIF อยู่ที่ 4.58 แสนเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้น 126% จากปีก่อน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 3 แสนเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้น 48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วน BEM มีสมมติฐานจำนวนผู้โดยสารปีนี้ 2.78 แสนเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้น 90% จากปีก่อน โดยตั้งแต่ต้นปีมีผู้โดยสารเฉลี่ย 1.95 แสนเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนรถใช้ทางด่วนปีนี้ประเมินไว้ 1.1 ล้านคันต่อวัน เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน โดยตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 9.78 แสนคันต่อวัน เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มขนส่งทางบก “มากกว่าตลาด” หรือ Overweight แนะนำ “ซื้อ” BEM ราคาเหมาะสม 9.80 บาท, กองทุน BTSGIF ราคาเหมาะสม 5.70 บาท, BTS ราคาเหมาะสม 10.80 บาท และ กองทุน TFFIF ราคาเหมาะสม 10 บาท ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของผู้โดยสารหลังผ่านพ้นผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้ว