กนอ. หวังใช้ "นิคมฯ อัจฉริยะ" ดึงลงทุนต่างชาติ เป็นที่ตั้งกิจการเทคฯ ขั้นสูง

กนอ. หวังใช้ "นิคมฯ อัจฉริยะ" ดึงลงทุนต่างชาติ เป็นที่ตั้งกิจการเทคฯ ขั้นสูง

กอน. ร่วมกับ บีโอไอ ศึกษารูปแบบสิทธิประโยชน์ จัดตั้งนิคมฯ อัจฉริยะ บอร์ดเคาะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากตั้งอยู่ในอีอีซี ได้รับลดหย่อนภาษีนิติบุคคลเพิ่ม 50% อีก 5 ปี หวังสร้างพื้นที่ศักยภาพดึงลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดทำสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate: Smart IE) และพื้นที่ประกอบการอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรม (Smart Industrial Zone: Smart IZ) 

เพื่อมุ่งผลักดันให้มีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบกิจการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือบอร์ดบีโอไอ ได้เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนกิจการนิคมหรือเขตอุสาหกรรมอัจฉริยะ โดยต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะ 5 ด้าน ได้แก่ Smart Facilities, Smart IT, Smart Energy, Smart Economy และบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆ อย่างน้อยอีก 1 ใน 3 ด้าน คือ Smart Good Corporate Governance, Smart Living และ Smart Workforce พร้อมทั้งยกเลิกเงื่อนไข ห้ามตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ 

นอกจากนี้ โครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม ทั้งที่ยังไม่สิ้นสุดหรือสิ้นสุดแล้ว และโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริม สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม หรือขอรับการส่งเสริมเพื่อยกระดับเป็นนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะได้เช่นกัน รวมทั้งยังได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 5 ปีเพิ่มเติม

“การปรับปรุงหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ในครั้งนี้ จะช่วยให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และพื้นที่ประกอบการอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรม สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของบีโอไอได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับเป้าหมายของ กนอ.ในการผลักดันให้มีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไปสู่นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะแล้ว ยังเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และอำนวยความสะดวกต่อการประกอบกิจการในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น"

 ทั้งนี้ การเจรจาให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนแต่ละรายจะมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำหรับระบบอัจฉริยะด้านต่างๆ ประกอบด้วย

Smart Facilities คือ การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้ติดตาม ควบคุม บริหารจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ได้แก่ ระบบผลิตน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบระบายน้ำฝน และระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม มูลฝอย และสิ่งปฏิกูล ระบบการติดตามตรวจสอบมลพิษหรือคุณภาพสิ่งแวดล้อม และระบบถนน
 

Smart IT  คือ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกการดำเนินงานของผู้ประกอบกิจการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างทั่วถึง 
 

Smart Energy คือ การใช้พลังงานโดยมีค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือ มีการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่การเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ (Low carbon industry)
 

Smart Economy คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประยุกต์ใช้ร่วมกับหลักการของ BCG (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy)

Smart Good Corporate Governance คือ การพัฒนากำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบรรษัทภิบาล (Good corporate governance) โดยมีการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลภายนอกเป็นไปอย่างเหมาะสม เท่าเทียมกัน ทันเวลา และใช้ช่องทางที่เหมาะสม
Smart Living คือ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal design) ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต 

และ Smart Workforce คือ การพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ตลอดจนเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพของแรงงานเข้าสู่ 4.0 และยกระดับคุณภาพของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม