หุ้น KTB กระแสแรง แอป “เป๋าตัง” โกยยอดใช้งาน
ปรากฏการณ์จองซื้อสลากออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จนเกลี้ยงแผงในระยะเวลาอันรวดเร็ว ถือได้ว่าสร้างฐานข้อมูลในกลุ่มผู้ที่สนใจลงทุนระดับแมสให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มสุดฮอต ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB นำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเงินในอนาคตได้มหาศาล
หลังจากเปิดขายสลากออนไลน์งวดแรก 16 มิถุนายน 2565 จำนวน 5,151,500 ฉบับ มีผู้ซื้อ 987,786 ราย ที่ราคาฉบับละ 80 บาท ภายในระยะเวลา 4 วัน และมีประชาชนซื้อมากกว่า จำนวน 1,247,406 คน
ที่สำคัญหลังจากออกรางวัลงวดดังกล่าวพบมีสลากที่ถูกรางวัล 73,191 ใบ ผู้โชคดีถูกรางวัล 41,419 คน ยอดเงินรางวัล 247.4 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีรางวัลที่ 1 จำนวน 5 ใบ จากผู้ซื้อ 5 คน ซึ่งสามารถเลือกรับเงินรางวัลตัวเองหรือโอนผ่านแอป “เป๋าตัง” ได้ทันที กลายเป็นทางเลือกของบรรดาคอหวยที่ถูกจริตเพราะต้นทุนถูก และยังสะดวกในการตรวจรางวัลและรับเงิน
ดังนั้นในงวดที่ 2 วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เปิดขายผ่านออนไลน์จึงเกิดความต้องการล้นหลาม หมดเร็วกว่าเดิมเพียง 2 วัน ซึ่งเตรียมจะมีการพิจารณาเพิ่มจำนวนสลากออนไลน์ในอนาคต
ทั้งนี้สลากออนไลน์ถือว่าเป็นการย้ำ และดีสปรับช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุน และการเงินในอนาคตที่ชัดเจน เนื่องจากก่อนหน้านี้แอป “เป๋าตัง” ถูกใช้เป็นฐานข้อมูลให้กับนโยบายภาครัฐมาแล้ว “เราชนะ” “เราเที่ยวด้วย” “ม.33 เรารักกัน”
และที่ถูกจุดพลุเปรี้ยงปร้าง “คนละครึ่ง” ที่ออกแบบมาตรการช่วยเหลือทั้งประชาชน ผู้ค้ารายย่อย โชห่วย ไปจนถึงค้าปลีกขนาดใหญ่ จนประสบความสำเร็จมีประชาชนได้รับสิทธิมากถึง 33 ล้านราย
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ KTB ได้เปรียบในแง่ของ Data Base จำนวนมากผ่านการเข้ามาทำธุรกรรมในแอป “เป๋าตัง” จนทำให้เริ่มนำผลิตภัณฑ์การเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้นมาจำหน่ายซึ่งคือ “หุ้นกู้ดิจิทัล”
ตามปกติหุ้นกู้เป็นตราสารทุนชนิดหนึ่งที่ต้องมีผู้แนะนำด้านการลงทุน เช่น ธนาคาร โบรกเกอร์ ผ่านการทำความรู้จักลูกค้าว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน หรือ KYC ซึ่งที่ผ่านมา หากมีการระดมทุนผ่านหุ้นกู้มักจะเป็นการขายให้กับประชาชนผ่านตัวกลางดังกล่าว
ปัจจุบันสามารถดำเนินการ KYCผ่านดิจิทัล และยังมีจุดเด่นคือ ผูกบัญชีทำให้ซื้อขายได้ทันทีด้วยการโอน และรับเงินผ่านบัญชี 24 ชั่วโมง และยังไม่มีค่าธรรมเนียมสูงเทียบกับซื้อผ่านตัวแทน
บริษัทจดทะเบียนมีการขายหุ้นกู้ผ่านแอป “เป๋าตัง” จำนวนมาก และสามารถปิดการขายได้ในระยะเวลารวดเร็ว แม้ว่าจะมีมูลค่าระดมทุนสูงก็ตาม อาทิ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL)เสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล รวม 8,000 ล้านบาท ขายหมดภายใน 15 นาที,บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล 6,000 ล้านบาท หมดภายในเวลา 8 นาที 12 วินาที หรือ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) มูลค่า 1,000 ล้านบาท หมดภายใน 4 นาที 23 วินาที ล่าสุดมีบริษัทขนาดใหญ่พาเหรดขายหุ้นกู้ดิจิทัลผ่านแอป ดังกล่าว เช่น บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP)
ที่ผ่านมา KTB พึ่งมีการจับมือร่วมลงทุน (JV) ‘เอคเซนเชอร์ โซลูชั่นส์’ หรือ Accentureบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ ‘Arise by Infinitas’ ในสัดส่วน 51:49 ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รองรับการขยายธุรกิจของธนาคาร อินฟินิธัส และพันธมิตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยการร่วมทุนในครั้งนี้
นอกจากผลดีจากแอป “เป๋าตัง” แล้ว KTB ถือว่าเป็นแบงก์ที่มีฐานลูกค้าเอสเอ็มอีจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาเผชิญปัญหาหนี้เสียจากสถานการณ์โควิด-19 จนมีการตั้งสำรองหนี้ฯ สูงสุดในกลุ่มแบงก์ปี 2562 เมื่อแบงก์ชาติผ่อนปรนจัดชั้นลูกหนี้จนถึงสิ้นปี 2565 ทำให้ KTB ลดภาระการตั้งสำรองฯ พอร์ตสินเชื่อมีคุณภาพมากขึ้น
และเตรียมจัดตั้งธุรกิจบริหารหนี้ (AMC ) พันธมิตร JV ร่วมกัน บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ ( BAM) ซึ่งจุดเด่นคือ การมีหนี้อสังหาริมทรัพย์รอขาย (NPA) จำนวนมาก จึงทำให้เป็นปัจจัยบวกให้ KTB
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์