“ดับบลิวเอชเอ” รุกกรีนพาวเวอร์ ยกระดับสาธารณูปโภค-พลังงาน
ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานเป็นธุรกิจสำคัญที่จะสร้างความสมบูรณ์ให้กับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม WHA รวม 10 แห่ง
สมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นผู้ให้บริการ Smart Utilities and Green Power Solution สอดรับกลยุทธ์แสวงหาโอกาสต่อยอดการลงทุนธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน โดยจะเน้นการพัฒนาโซลูชั่น สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภค รวมถึงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่จะเป็น technology company รวมถึงจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและอัตราการเติบโตในระยะยาว
รวมทั้งจากแนวคิดต่อยอดธุรกิจทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและผนึกพันธมิตร เพื่อนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ลูกค้า เช่น ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมล่อยน้ำเสีย โดยปกติต้องกำจัดตามกฎหมาย แต่บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นน้ำคุณภาพเพิ่มคุณค่าทำให้สะอาดเหมือนเดิมแล้วนำกลับมาบริการลูกค้า ตอบโจทย์ เศรษฐกิจหมุนเวียน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าปี 2569 จะมีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ 6,000 ล้านบาท และรักษาระดับอัตราผลกำไร EBITDA ในระดับสูงกว่า 50% จากการเติบโตของธุรกิจหลักทั้งน้ำและไฟฟ้า จากการขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศโดยเฉพาะเวียดนามควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าสูง ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการในรูปแบบ One-Stop-Service
ขณะเดียวกันบริษัทฯ วางเป้าหมายการให้บริการในธุรกิจ Green Power เพิ่มขึ้น หลังจากที่ผ่านมาได้ลงทุนธุรกิจให้บริการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี อาทิ การติดตั้ง Solar Rooftop ให้บริษัท พรินซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้า 19.44 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาที่มีขนาดใหญ่สุดในอาเซียน
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน บริษัทฯ ถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่รายหนึ่งของไทย กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ บริษัทฯ จึงพร้อมที่จะสนองนโยบายของภาครัฐที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าทั้งจากโซลาร์ฯ และลม ซึ่งบริษัทได้ทำการศึกษาโอกาสการลงทุน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าร่วมโครงการ
รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาแผนควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) โครงการในต่างประเทศหลายโครงการ ซึ่งอาจจะมีต้นทุนสูงขึ้น แต่จะต้องเกิดประโยชน์และตอบโจทย์กลยุทธ์การเติบโตตามแผน 5 ปีของบริษัท และยังอยู่ระหว่างเจรจาแผนร่วมลงทุน (JV) โครงการในประเทศ คาดว่าจะปิดดีลได้เร็วๆ นี้
“เมื่อเปิดประเทศจะเห็นว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มเดินเครื่องกลับมาเดินกำลังผลิตเต็มกำลัง ถือเป็นเรื่องที่จะช่วยเศรษฐกิจดี ส่วนลูกค้าใหม่ เราถือว่าเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งปนุ่งของประเทศ เห็นว่ามีผู้เข้ามาลงทุนสนใจซื้อที่ดินเยอะขึ้น ถือว่านโยบายภาครัฐช่วยสนับสนุน อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูง พลังงานสะอาด ภาษี รวมถึงกฎหมาย จะส่งผลดีกับประเทศระยะยาว”
อัครินทร์ ประเทืองสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ WHAUP กล่าวว่า ตั้งเป้ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำปีนี้ รวม 153 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเติบโต 13% จากปีก่อน ด้วยแนวโน้มการเติบโตของลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ผนวกกับการขยายฐานลูกค้าภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป
อีกทั้ง ยังจำหน่ายน้ำประเภท Value-Added Product คือ น้ำปราศจากแร่ธาตุ และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง ที่ได้จากกระบวนการนำน้ำเสียมาบำบัด โดยไตรมาส 3 ปี 2565 น้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ให้ลูกค้าโรงไฟฟ้า SPP ของกลุ่ม GULF กำลังการผลิตประมาณ 1.4 ล้านลบ.ม.ต่อปี
ส่วนการเติบโตนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ปีที่ผ่านมาได้มีการเซ็นสัญญาร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จัดตั้งบริษัทร่วมทุนสำหรับผลิตและจำหน่ายน้ำประเภท Value-Added Product ให้กับลูกค้าที่เป็นโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย โดยเฟสแรกที่มีกำลังการผลิตปีละ 1 ล้าน ลบ.ม.คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ปี 2565
ทั้งนี้ นอกจากการลงทุนเพิ่มยอดจำหน่ายน้ำแล้ว WHAUP ลงทุนในการจัดหาแหล่งน้ำดิบทางเลือกอื่น อาทิ การขุดอ่างเก็บน้ำเพิ่ม เพื่อลดการพึ่งพาการจัดซื้อน้ำดิบจากผู้จำหน่ายหลัก รวมถึงเป็นการลดต้นทุนในการจัดหาน้ำดิบด้วย โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังกาผลิตของแหล่งน้ำดิบทางเลือกอีกอย่างน้อย 11 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ส่วนโครงการที่ประเทศเวียดนามนั้น ยังมีการขยายการลงทุนต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษทัฯ ตั้งเป้าหมายปีนี้เพิ่มพอร์ตรวมของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสะสมแตะ 150 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนสัญญารวมดังกล่าว คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในปีนี้ทั้งสิ้น 115 เมกะวัตต์ และทยอย COD ปีถัดไป
รวมทั้งได้พัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะเพื่อรองรับระบบซื้อขายไฟให้กับลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรม อาทิ ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading ในชื่อ RENEX โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ERC Sandbox ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเริ่มซื้อขายไตรมาส 3 ปี 2565 โดยจะช่วยหนุนให้พอร์ตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเป็น Clean Energy Trader ในโครงการทดลองนำร่องกว่า 23 ราย
อีกทั้ง นำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (BESS) ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Microgrid ยกระดับระบบสาธารณูปโภคในนิคมฯ ต่อยอดธุรกิจ Renewable Energy และสร้าง Business Model ใหม่ เป็นตัวแปรสำคัญทำให้นำพลังงานสะอาดมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น