ชั้นเชิง "รัฐบาล" รับมือ "เศรษฐกิจถดถอย"
จับตาท่าทีและชั้นเชิง "รัฐบาล" และทีมบริหาร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับ "เศรษฐกิจ" เมื่อทั้งโลกรวมถึงไทยกำลังสุ่มเสี่ยงเข้าสู่ "ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" ที่อาจจะมาถึงเร็วกว่าที่คิด
เหมือนโลกกำลังเข้าใกล้ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” มากขึ้นทุกที จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ติดลบ ปัจจัยวิกฤติรายล้อม ทั้งราคาพลังงาน เงินเฟ้อ ศึกสงครามรัสเซีย ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อเป็น “เรื่องใหญ่” ที่ส่งผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ แม้แต่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ก็ยังบอบช้ำจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ค่าครองชีพพุ่งทะยานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เรียกว่า ทั้งโลกกำลังบาดเจ็บสาหัสจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังวิกฤติขั้นสุด อยู่ที่ว่าโซลูชั่นและชั้นเชิงของการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศจะออกมาในแบบใด
“โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ ส่งจดหมายเชิญซีอีโอบริษัทน้ำมันและโรงกลั่น 7 แห่ง ประกอบด้วย มาราธอน ปิโตรเลียม, วาเลโร เอนเนอร์จี, เอ็กซอนโมบิล, ฟิลิลิปส์ 66, เชฟรอน, บีพี และเชลล์มาร่วมหารือ เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถการผลิต และลดราคาพลังงานลง ซึ่งช่วงหลัง “ไบเดน” มักกล่าวโทษอุตสาหกรรมพลังงาน หลังจากน้ำมันราคาสูง ดันให้เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
ก่อนหน้านี้เขาก็ถล่มบริษัทน้ำมันที่มีกำไรเป็นประวัติการณ์ พร้อมเรียกร้องให้เพิ่มการผลิต และขีดความสามารถในการกลั่น เพื่อลดราคาน้ำมัน รวมทั้งกล่าวหาเอ็กซอนโมบิลว่า “ทำเงินมากยิ่งกว่าพระเจ้า” และไม่ขุดเจาะน้ำมันให้มากพอ วันนี้ สหรัฐ กำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้าย และ “ไบเดน” กำลังถูกกดดันอย่างหนักทั้งเรื่องราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
กลับมามองในประเทศไทย เผชิญวิกฤติเดียวกัน ราคาน้ำมันแพง เงินเฟ้อสูง กระทบค่าครองชีพ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายดูแลราคาพลังงาน ต้องอยู่บนหลักการ 3 ข้อ ได้แก่
1. รัฐบาลต้องดูแลความมั่นคงเรื่องเสถียรภาพพลังงานในประเทศ ไม่ให้เกิดการขาดแคลนพลังงาน ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประชาชนและภาคธุรกิจ
2. รัฐบาลต้องดูแลราคาพลังงานไม่ให้กระทบประชาชนมากเกินไป โดยเฉพาะราคาดีเซล และก๊าซหุงต้ม ที่กระทบค่าครองชีพประชาชนวงกว้าง
และ 3.การดูแลช่วยเหลือราคาพลังงานในระยะต่อไปรัฐบาล จะต้องดูแลช่วยเหลือครอบครัวหรือกลุ่มเปราะบาง ผ่านมาตรการที่มีอยู่ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรืออาจให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเป็นรายกิจกรรม หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะราย
ขณะที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ถกหารือรับมือวิกฤติพลังงานร่วมกับรัฐบาลด้วยเช่นกัน ดึงระดับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงหารือแผนการรองรับวิกฤติระดับประเทศ
ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ อาจจำเป็นต้องปรับปรุงแผนการบริหารความเสี่ยง รวมถึงวิธีที่จะแก้ปัญหา ที่คงจะยืดเยื้อยาวนาน รัฐบาลและทีมบริหาร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมี “ชั้นเชิง” มากขึ้นในการรับมือ เมื่อทั้งโลกรวมถึงไทยกำลังสุ่มเสี่ยงเข้าสู่ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ที่อาจจะมาถึงเร็วกว่าที่คิด...