รฟท.เคาะแก้สัญญาปมแอร์พอร์ตลิงก์- เร่งออกหนังสือเริ่มงานไม่เกิน ม.ค.66

รฟท.เคาะแก้สัญญาปมแอร์พอร์ตลิงก์- เร่งออกหนังสือเริ่มงานไม่เกิน ม.ค.66

ร.ฟ.ท.เผยพร้อมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไฮสปีด 3 สนามบิน 100% “อัยการ” ยืนยันลำรางสาธารณะมักกะสันไม่เป็นปัญหา เดินหน้าชง สกพอ.ต้นเดือน ก.ค.นี้ ขอเห็นชอบแก้ไขสัญญาก่อนเสนอ ครม.ตั้งเป้าออก NTP ไฟเขียว “เอเชีย เอราวัน” เริ่มงานก่อสร้างไม่เกิน 4 ม.ค.ปีหน้า

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มีการลงนามร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และที่ผ่านมาเอกชนคู่สัญญาได้ขอเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้จำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง 

ประเด็นดังกล่าวนำมาสู่การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในประเด็นการชำระค่าสิทธิบริหารโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10,671 ล้านบาท และแก้ไขสัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ

นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.รับทราบรายงานความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อนของโครงการและโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยมีการรายงานความคืบหน้า 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1.การส่งมอบพื้นที่ โดยขณะนี้ ร.ฟ.ท.มีสิทธิเข้าครอบครองพื้นที่ตามกฎหมาย 100% ตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 ทั้งในส่วนของพื้นที่เวนคืน และพื้นที่บุกรุก โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย มีสิทธิครอบครองพื้นที่ตลอดแนวก่อสร้างโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินแล้ว และมีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้โดยไม่เป็นอุปสรรคกีดขวางการก่อสร้างในวันที่ 31 พ.ค.2565

2.การส่งมอบพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบ (TOD) รวม 150 ไร่ และการจดทะเบียนการเช่า ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาการส่งมอบพื้นที่ TOD สถานีมักกะสัน จากลำรางสาธารณะและบึงเสือดำ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ได้หารือร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด โดยอัยการสูงสุดตอบกลับเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยตีความสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ เกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟโครงการฯ พื้นที่มักกะสัน และการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานว่า คณะกรรมการกำกับฯ มีอำนาจตามข้อ 20 (3) ของประกาศ EEC Track ในการวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติ

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 มีการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการที่มีตัวแทน 3 ฝ่าย คือ ร.ฟ.ท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และตัวแทน บริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ในฐานะคู่สัญญา เพื่อรับทราบข้อสรุปการตีความของอัยการสูงสุด และเห็นพร้อมกันว่า ลำรางสาธารณะและบึงเสือดำในพื้นที่ TOD มักกะสัน ไม่ใช่เงื่อนไขในการส่งมอบพื้นที่

เคลียร์พื้นที่มักกะสันจบ

“อัยการสูงสุดตีความแล้วว่าคณะกรรมการกำกับฯ มีอำนาจในการวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติ และเมื่อคณะกรรมการกำกับฯ วินิจฉัยก็พบว่าลำรางและบึงเสือดำไม่ใช่เงื่อนในการส่งมอบ โดยการรถไฟฯ ก็มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ 100% แล้ว ดังนั้นขณะนี้ถือว่าไม่มีปัญหา หรือเงื่อนไขของการส่งมอบพื้นที่ และจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้”

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างทำหนังสือรายงานผลการประชุมคณะกรรมการกำกับฯ และคำตอบความเห็นชอบสำนักงานอัยการสูงสุด ส่งไปยัง บริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ในฐานะคู่สัญญา เพื่อให้รับทราบข้อมูลอย่างเป็นทางการ และตอบรับความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนทำหนังสือขอดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนไปยัง สกพอ.ภายในต้นเดือน ก.ค.นี้

3.บัตรส่งเสริมการลงทุน ความคืบหน้าขณะนี้เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการเกี่ยวกับรถไฟเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2565 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีมติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่เอกชนคู่สัญญา แต่เอกชนคู่สัญญาขอเวลาดำเนินการเพื่อให้ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับภายในเดือน ก.พ.2566

ออก “เอ็นทีพี” ไม่เกิน ม.ค.65

4.วันเริ่มต้นนับระยะเวลาโครงการ ที่ประชุมคณะทำงานเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ร่วมกันพิจารณาวันเริ่มต้นนับระยะเวลาโครงการที่เหมาะสม เพื่อให้ทั้งสองโครงการไม่ล่าช้า เบื้องต้นได้กำหนดเริ่มนับระยะเวลาโครงการเมื่อลงนามแก้สัญญาร่วมลงทุนแล้วเสร็จ แต่มีกรอบต้องไม่ล่าช้ากว่าวันที่ 4 ม.ค.2566 ดังนั้น ร.ฟ.ท.จะต้องดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่ (NTP : Notice to Proceed) เพื่อเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในวันที่ 4 ม.ค.2566

5.บันทึกผลการเจรจา โดยขณะนี้ ร.ฟ.ท.และเอกชนคู่สัญญา อยู่ระหว่างจัดทำบันทึกผลการเจรจาเพื่อเสนอคณะกรรมการกำกับฯ พิจารณาตามขั้นตอนของประกาศ EEC Track โดยขั้นตอนหลังจากรอเอกชนตอบกลับผลการเจรจาจากทางภาคเอกชน เพื่อนำเสนอไปยัง สกพอ.ภายในต้นเดือนหน้าแล้ว การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนจะต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงจะถือว่าการดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้วเสร็จ

ต่อเอ็มโอยู “แอร์พอร์ตลิงก์”

ทั้งนี้ นอกจากการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ร.ฟ.ท.จะต้องดำเนินการคู่ขนานในเรื่องการขยายอายุบันทึกข้อตกลง (MOU) ที่จัดทำร่วมกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญา เพื่อบริหารสัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดย MOU ฉบับเดิมจะหมดอายุในวันที่ 24 ก.ค.2565 แต่การขยายอายุข้อตกลงดังกล่าวจะกำหนดถึงเมื่อไหร่นั้น ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป เบื้องต้นกำหนดกรอบเวลาเพียงว่าต้องครอบคลุมช่วงเวลาของการลงนามสัญญา และไม่เกินกรอบเวลาส่งมอบพื้นที่ 4 ม.ค.2566

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ยังได้รับรายงานด้วยว่า ผลการเจรจาการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน และไฮสปีดเทรนไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ขณะนี้ทางเอกชนรับข้อเสนอในการดำเนินการก่อสร้างส่วนดังกล่าว ในวงเงิน 9,207 ล้านบาท โดยรัฐไม่ต้องออกค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นนี้ แต่มีเงื่อนไขให้ ร.ฟ.ท.เริ่มชำระคืนค่าก่อสร้างไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินช่วงทับซ้อนนี้เร็วขึ้น จากเดิมที่กำหนดไว้ชำระในปีที่ 6 (นับจากเข้าพื้นที่ก่อสร้าง) โดยให้ปรับเริ่มจ่ายคืนค่าก่อสร้างในเดือนที่ 21 

ชงแก้ไขสัญญา 2 ประเด็น

สำหรับแนวทางแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่ได้ข้อสรุปตรงกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ

1.การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ โดยเอกชนยอมรับข้อเสนอของภาครัฐในการลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาช่วงดังกล่าวจำนวน 9,207 ล้านบาท ซึ่งเอกชนจะต้องเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.2569 โดย ร.ฟ.ท.จะปรับเงื่อนไขการชำระคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้นเป็นเดือนที่ 21 จากเดิมมีการกำหนดเอกชนต้องก่อสร้างแล้วเสร็จรัฐจึงจะจ่ายค่าก่อสร้าง

อีกทั้งในส่วนของระยะเวลาการชำระจากเดิมภาครัฐต้องทยอยชำระค่าก่อสร้าง 10 ปี จะปรับเป็นเสนอแบ่งชำระ 7 ปีๆ ละเท่ากัน โดยแนวทางนี้เอกชนคู่สัญญาจะต้องยอมลดผลตอบแทนจาก 5.52% เหลือ 5.24% ซึ่งรัฐจะชำระเงินร่วมลงทุน 133,475 ล้านบาท

รวมทั้งแนวทางดังกล่าว ภาครัฐจะประหยัดงบประมาณได้ 25,362 ล้านบาท จากการประหยัดเงินที่รัฐร่วมลงทุน 16,155 ล้านบาท และไม่ต้องชำระค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 9,207 ล้านบาท โดยภาครัฐจะมีภาระในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีสูงสุด 19,071 ล้านบาท ระยะเวลารวม 7 ปี

2.การยืดชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท เป็น 7 ปี โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% และงวดที่ 7 เอกชนจะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย โดยหากโควิด-19 ยุติก่อนระยะเวลา 7 ปี ตามประกาศจากรัฐบาลจะมีการประเมินจำนวนผู้โดยสารในช่วง 1 ปีหลังจากนั้น แล้วให้พิจารณาการชำระเงินส่วนที่เหลือ