กี่ดราม่าศึกแดงเดือด! The Match ปรากฏการณ์แฟนคลับขย้ำ ‘เฟรชแอร์ เฟสติวัล’
นับถอยหลังอีกเพียง 16 วัน แมทช์การแข่งขันฟุตบอลคู่หยุดโลกในฝันระหว่างสโมรสร “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด VS ลิเวอร์พูล” ภายใต้รายการ “THE MATCH Bangkok Century Cup 2022” กำลังจะฟาดแข้งกัน แต่ "ดราม่า" แย่งซีนศึกแดงเดือดจน ให้บทเรียนธุรกิจใหญ่ "เสี่ยวินิจ" แห่งเฟรชแอร์ เฟสติวัล
นับตั้งแต่ออกสตาร์ทจัด “อีเวนต์ใหญ่” หัวเรือใหญ่อย่าง “วินัจ เลิศรัตนชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด มีความมุ่งมั่นจะสร้าง “ปรากฏการณ์” ให้เกิดขึ้น
และอาจสมใจอยาก ในแง่ของปรากฏการณ์ แต่เป็น “ดราม่า” ด้านลบเสียส่วยใหญ่ที่บริษัทต้องเผชิญตลอดเส้นทางของการตระเตรียมงาน
เท้าความวิกฤติโควิด-19 ระบาด ธุรกิจ “อีเวนต์” เป็นหน้าด่านที่ถูกมาตรการป้องกันโควิดจัดการ เพราะรัฐออกนโยบาย “ห้าม” จัดกิจกรรมการรวมกลุ่มใดๆ ทำให้ตลอดเวลากว่า 2 ปี มูลค่าตลาดหายไปมหาศาล ผู้ประกอบการเองล้วนเผชิญวิบากกรรมสูญเสียรายได้
เมื่อโควิดคลี่คลาย บรรดา “อีเวนต์” เริ่มกลับมาจัด แน่นอนว่า “วินิจ” เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ไม่เพียงต้องการปลุกมู้ด สร้างบรรยากาศให้คึกคักอีกครั้ง มาพร้อมการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำ 2 สโมสรฟุตบอลที่มีแฟนคลับทั่วโลก “หลายพันล้าน” มาเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้คน
สำหรับคอบอลแน่นอนต้องการเห็นนักเตะจาก 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ “แมนยูฯ-ลิเวอร์พูล” ดวลแข้งกันอยู่แล้ว จะในเกมพรีเมียร์ลีก หรือปม้กระทั่งนัดพิเศษในไทย แต่รายการ “THE MATCH Bangkok Century Cup 2022” นั้น ราคาบัตรเข้าขั้นมหาโหด! เพราะเริ่มต้นตั้งแต่ 5,000 บาท 7,000บาท 15,000บาท 20,000บาท 22,000 บาท ไปจนถึง 25,000 บาท
ขณะที่การใช้สนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งมีบนอัฒจันทร์มีความจุกว่า 51,000 ที่นั่ง ทำให้การขายบัตรเป็นโจทย์ใหญ่ของ “เสี่ยวินิจ”
ดราม่าเรียกแขกขย้ำ “เฟรชแอร์ฯ” เพียบ!
หากเปิดไทม์ไลน์ประเด็นดราม่าใหญ่ๆ เริ่มตั้งแต่การที่บริษัททำจดหมาย “ของบประมาณสนับสนุน” การจัดอีเวนต์ศึกแดงเดือดไปยัง การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) เป็นวงเงินราว 400 ล้านบาท ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬามอบนโยบายให้ทีมงานไปศึกษาความเป็นไปได้ ตลอดจน “ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ”
ครั้งนั้น สังคมตั้งคำถาม และวิพากวิจารณ์ประเด็นดังกล่าวในวงกว้างจนแม่ทัพเฟรชแอร์ต้องออกมา “โต้ข่าว” ไม่รู้เรื่องเม็ดเงิน แต่มีการขออำนวยความสะดวกด้านการจัดงาน เพราะอีเวนต์นี้ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐ บริษัทเป็นโปรโมเตอร์เอง จบไปหนึ่ง
ดราม่าลูกใหญ่มาเพิ่ม เมื่อบริษัทตัดสินใจใช้อาวุธการตลาดใหม่ดึง “แจ็คสัน หวัง” อดีตศิลปินไอดอล GOT7 มาเป็นแม่เหล็กดึงคนดูหวังขายบัตรให้เหล่า “อากาเซ่” ทว่า แฟนบอลจำนวนมากเห็นความไม่เข้ากันของกิจกรรมเสริม ส่วนแฟนคลับ “พี่แจ๊ค” อาจต้องการไปชมศิลปินคนโปรด แต่มูลค่าบัตรแสนแพง เป็นอุปสรรคการซื้อไม่น้อย ยิ่งเทียบกับไปดูคอนเสิร์ตใหญ่ งานแฟนมีทของ GOT7 ยังไม่แพงเท่านี้เลย ดราม่าเลยเกิดทั้งฝั่งแฟนบอลและอากาเซ่
ไม่จบ เพราะสดๆร้อนๆแม่ค้ามือทอง “พิมรี่พาย” ได้บัตรมา 20,000 ที่นั่ง นำมาขาย “ขาดทุน” เช่น บัตรราคา 20,000 บาท ขาย 15,000 บาท บัตรราคา 15,000 บาท ขาย 11,000 บาท งานนี้เล่นเอาคนซื้อบัตรไปแล้วเกิดอาการเซ็งเป็ด!
แต่เหตุการณ์ไปกันใหญ่ เพราะกลยุทธ์การขายของ “พิมรี่พาย” ไม่ธรรมดา นอกจากยอมขาดทุนหลายสิบล้านแล้ว ยังมี Power จูงใจให้คนซื้อบัตรด้วยการให้ “เพื่อนรัก” ลุ้นไปดินเนอร์มื้อพิเศษกับนักเตะ และ “พี่แจ็ค” ผลที่ตามมาคือ เละ! เพราะแฟนคลับรุมขย้ำยำใหญ่ผู้จัดงานอีกรอบ จนสุดท้าย “เสี่ยวินิจ” ต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่มีมื้อพิเศษ
การที่ “พิมรี่พาย” นำบัตร 20,000 ใบมาขายต่อ ยังเป็นชนวนเหตุสำคัญให้ 2 สโมสรระดับโลก “แมนยูฯ - ลิเวอร์พูล” ถึงกับออกแถลงการณ์ร่วม กรณีบัตรเข้าชมการแข่งขันเกมพรี-ซีซั่น ที่ถูกนำมาขายซ้ำ ซึ่งทั้ง 2 สโมสรไม่อนุมัติการจำหน่ายหรือยินยอมในเนื้อหาการจำหน่ายดังกล่าว ที่ทำให้แฟนๆเข้าใจผิด รวมถึงไม่มีการพบปะหรือรับประทานอาหารค่ำร่วมกับนักเตะชุดใหญ่
เช่นเดียวกับ “TEAM WANG records” ที่กล่าวถึงการนำบัตรมาขายซ้ำ ว่าไม่มีการอนุมัติการขายบัตรดังกล่าวแต่อย่างใด เรียกว่าถนนทุกสาย ทั้งสโมสรฟุตบอล คอบอล แฟนคลับพี่แจ๊ค ผู้บริโภค มุ่งไปขย้ำยำใหญ่ “เฟรชแอร์ฯ”
โดยเฉพาะผู้บริโภค ที่ต่างคอมเมนต์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “กินข้าวไม่ได้กินหญ้า” สะท้อนถึง Smart Consumer ผู้บริโภคที่มีความรู้เท่าทันแบรนด์มากขึ้น ดังนั้นงานนี้นอกจาก “เฟรชแอร์ฯ” จะไม่ปัง!แล้วกลับพังกว่าเดิมด้วยทั้งแบรนด์ ภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคมี ซึ่งต้องติดตามต่อว่าในอนาคต หากมีการจัดอีเวนต์ต่างๆ จะเจอกับอะไรบ้าง
จากเหตุการณ์ทั้งหมด “เสี่ยวินิจ” จะโพสต์ IG ส่วนตัว “ขอโทษ” และน้อมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว ทว่า นี่เป็นอีกบทเรียนการทำธุรกิจ และตัวอย่างของ “ผู้นำ” องค์กร ที่มีจุดยืน และทำงานนี้คนเดียวซึ่งเป็น Match ใหญ่เกินฝัน!! หวังจะสร้าง “มาตรฐานใหม่” ในการจัดงาน กลับไม่เป็นอย่างที่คิด
ส่องตลาดอีเวนต์หมื่นล้าน!
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการประเมินภาพรวมตลาดอีเวนต์มูลค่าราว 14,000 ล้านบาท เติบโตมากน้อยขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ แต่เกือบ 3 ปีที่เผชิญโควิดระบาด มูลค่าตลาดหายไปไม่ต่ำกว่า 60% เพราะงานไม่สามารถจัดได้เลย ปี 2565 นโยบายเปิดประเทศ โควิดคลี่คลาย จึงมีความหวังจะเห็นตลาดฟื้นตัว ธุรกิจกลับมาพ้นน้ำไปต่ออีกครั้ง
สำหรับงานอีเวนต์ใหญ่ที่ทยอยปลุกความคึกคักช่วงที่ผ่านมา เช่น THAIFEX - ANUGA ASIA 2022 ที่จบงานเงินสะพัดหลายหมื่นล้านบาท หรืองานแฟนมีทศิลปิน ไอดอลต่างๆ ซึ่ง “เกาหลีใต้” เริ่มกลับมาโกยเงินในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น งานแฟนมีท “Mark Tuan” เมื่อ 28-29 พ.ค.ที่ผ่านมา เหล่าอากาเซ่ขานรับดีจนต้องเพิ่มรอบ รวมถึง “คิมมินกยู” และ “อีแจฮุน” ที่เพิ่งมาพบปะแฟนๆชาวไทย
เปิดรายได้เฟรชแอร์ฯ ปี 64 กำไรกว่า 5.5 ล้านบาท
หากมองตลาดอีเวนต์หลายปีที่ผ่านมา ชื่อของ “เฟรชแอร์ฯ” ค่อนข้างเงียบ แต่ยังมีการทำอีเวนต์ต่างๆอยู่ เช่น กิจกรรมเคาท์ดาวน์ภูเก็ต เป็นต้น
ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัท ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า
- ปี 2564 รายได้รวมกว่า 134 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 5.5 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้รวมกว่า 90 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 23 ล้านบาท
- ปี 2562 รายได้รวมกว่า 80 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 6 ล้านบาท