"ยกเลิกไทยแลนด์พาส" 1 ก.ค. "ททท." เจาะตลาดใหม่ดันเป้าทัวริสต์ 10 ล้านคนปีนี้
“ประเทศไทย” ถือเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่นำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังวิกฤติโควิด-19 ปะทุ! ประเดิมด้วยโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เริ่ม 1 ก.ค.2564 ไล่เลียงมาจนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ!! นั่นคือการประกาศใช้ระบบ “ไทยแลนด์พาส” (Thailand Pass)
รับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go เริ่ม 1 พ.ย.2564 อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่มีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบ สามารถท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศ
ก่อนจะผ่อนคลายมาตรการเดินทางอย่างต่อเนื่อง คลี่คลายตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กระทั่งล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติให้ “ยกเลิกระบบ Thailand Pass” และยกเลิกการบังคับนักท่องเที่ยวต่างชาติทำประกันสุขภาพ มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวต่างชาติแค่แสดงใบรับรองการฉีดวัคซีน (Certificate of Vaccination) หรือแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิดเป็นลบด้วยวิธีตามที่กำหนด ในกรณีที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบโดส
นับเป็นการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยครั้งใหญ่...เปิดประเทศอย่างสมบูรณ์!! หลังภาคท่องเที่ยวไทยถูกวิกฤติโควิด-19 กัดกินนานกว่า 2 ปีครึ่ง
ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การยกเลิกระบบไทยแลนด์พาสเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ช่วยให้ ททท.เดินหน้าส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เป็นไปตามเป้าหมายปี 2565 ซึ่งตั้งไว้ที่ 10 ล้านคน สอดรับกับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ปี 2565-2566 เป็น “ปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย” (Visit Thailand Year)
จากเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคนดังกล่าว เฉพาะ “นักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล” ททท.ตั้งเป้าที่ 4 ล้านคน แบ่งเป็นจากภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง 3.25 ล้านคน และภูมิภาคอเมริกา 7.5 แสนคน
โดยจากสถิติในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. มีนักท่องเที่ยวจากทั้ง 4 ภูมิภาคเดินทางมาไทย 791,043 คน เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง 458,567 คน เพิ่มขึ้น 2,536.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนภูมิภาคอเมริกา 63,210 คน เพิ่มขึ้น 1,383.11%
“โจทย์ของ ททท.ต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ ที่มีอัตราการเติบโตอย่างโดดเด่น ในช่วงที่ตลาดหลักนักท่องเที่ยวจีนยังไม่มา ขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซียเองก็ชะงักไป ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยจำเป็นต้องปรับตัว และเรียนรู้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวตลาดใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย”
อาทิ นักท่องเที่ยวจาก “ตะวันออกกลาง” ซึ่งชื่นชอบการท่องเที่ยวช่วงฤดูฝนในไทย มาช่วยเพิ่มยอดโลว์ซีซั่น อย่างตลาด “ซาอุดีอาระเบีย” หลังฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯในรอบ 30 ปีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบนักท่องเที่ยวซาอุฯเดินทางมาไทยมากขึ้น มียอดเดินทางเข้า จ.ภูเก็ต มากเป็นอันดับ 5 ยินดีจ่ายที่พักดีๆ อย่างพวกพูลวิลล่า เพื่อซื้อความเป็นส่วนตัว
ขณะที่ “อิสราเอล” แม้จะเป็นตลาดเล็ก แต่เนื่องจากเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนเร็ว เลยมาเที่ยวไทยเร็ว และเติบโตดีต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อีกตลาดที่น่าสนใจคือ “คาซัคสถาน” เป็นประเทศที่เศรษฐกิจดี พรมแดนไม่ติดทะเล จึงชอบทะเลมาก และอยากมาเที่ยวทะเลในไทย
นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากแถบ “ตอนกลางของสหรัฐ” ขนาดปัจจุบันยังไม่มีเที่ยวบินตรงจากสหรัฐเข้าไทย แต่มีนักท่องเที่ยวสหรัฐเดินทางมาไทยมากเป็นอันดับ 5 (จากข้อมูลตั้งแต่ 1 ม.ค.-22 มิ.ย.2565) อีกตลาดที่น่าสนใจคือ “ละตินอเมริกา” เช่น ตลาดบราซิลมีขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาข้ามวันข้ามคืนในการบินมาเที่ยวไทย
“แนวคิด Time is The New Currency คือ คำตอบของแนวทางการดึงนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล เพื่อเพิ่มจำนวนวันพักในไทย จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 14 วัน/คน/ทริป เราต้องแสวงหาลูกค้าที่มีเวลามาอยู่กับเรามากขึ้น จูงใจด้วยโปรโมชั่นหรือกิจกรรมให้อยู่เที่ยวต่อนานขึ้น”
ตลาดศักยภาพที่ “พร้อมอยู่นาน” มีทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่ม Remote Workers ทำงานที่ไหนก็ได้ เช่น ดิจิทัลนอแมด กลุ่มมิลเลนเนียลส์ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย พร้อมสร้างคอนเทนต์ด้านการท่องเที่ยวเพื่อบอกต่อในโลกออนไลน์ กลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งนิยมใช้จ่ายซื้อประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบหรูหรา (Luxperiences) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มครอบครัวและเด็ก กลุ่มวัยเกษียณที่มีรายได้สะสมและมีเวลาออกท่องเที่ยว กลุ่ม Bleisure หรือนักธุรกิจที่มาทำงานไปด้วยและท่องเที่ยวไปด้วย กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพซึ่งสนใจการดูแลทั้งสุขภาพกายและใจ
รวมถึงกลุ่มท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและชื่นชอบการสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น เทรนด์นี้กำลังได้รับความนิยมในตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งต้องการ “ประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีความหมาย” (Meaningful Travel Experience) ต่อชีวิต และดีต่อใจ เช่น บางคนชอบไปปลูกป่า ชอบชอปปิงในตลาดชุมชน เพราะหวังว่าจะได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบเข้าถึง “ของแท้” (Authentic Experience)
“แม้ปัจจุบันจะมีวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อค่าน้ำมันเครื่องบิน และสภาวะเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง แต่จากการประเมินตลาดระยะไกลในตอนนี้ พบว่ามีแนวโน้มดี นักท่องเที่ยวยินดีจ่ายค่าตั๋วโดยสารชั้นธุรกิจ ขอพักที่พักสบายๆ เลือกไปร้านอาหารหรูหรือร้านอาหารที่ได้สัญลักษณ์จากมิชลินไกด์ เพราะไม่ได้ออกมาเที่ยวนาน โดยยังให้ความสำคัญกับมาตรฐานสุขอนามัย ต้องทำให้เขามั่นใจว่าจะไม่ติดโควิด-19”
สำหรับแนวทางในการส่งเสริมตลาดระยะไกลของ ททท. ประกอบด้วย 1.ทำงานร่วมกับพันธมิตร แบบ On Demand Partnership อาทิ สายการบิน เครือโรงแรม และบริษัทนำเที่ยวรายใหญ่ 2.ส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตร Special Deals with Partner ได้แก่ บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) ในตลาดหลัก 3.ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ 4.จัดงานและสนับสนุน “ไทย เฟสติวัล” (Thai Festivals) ในประเทศต่างๆ
“ทางพันธมิตรได้ขอให้ ททท.ร่วมสนับสนุนและจัดงานไทยเฟสติวัลในต่างประเทศเพื่อเข้าถึงลูกค้าโดยตรง เป็นการปรากฏตัวพร้อมส่งเสียงดังๆ ว่าประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบแล้ว”