จับสัญญาณ resession สหรัฐฯ ‘สภาพัฒน์’ แนะไทยเร่งเสริมแกร่งเศรษฐกิจ
'สภาพัฒน์'ชี้สัญญาณสหรัฐฯมีโอกาสเกิดศก.ถดถอย ใน1-2ปี ขึ้นกับการใช้มาตรการการเงินของเฟด ชี้หากเกิดจริงจะเกิดผลกระทบกับศก.ทั่วโลก แนะไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างศก.ให้ยืนบนขาตัวเองได้ เร่งการลงทุนที่จำเป็น สร้างซัพพายเชนในประเทศให้แกร่ง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงในสหรัฐฯ และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นเพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจมาก และเกิดสิ่งที่เรียกว่าสถานการณ์ที่อัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว(Inverted Yield Curve) ในปีนี้แล้วถึง 2 ครั้ง โดยเมื่อติดตามการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากที่เกิด Inverted Yield Curve ขึ้นมาสำนักต่างๆวิเคราะห์ตรงกันว่าในสหรัฐฯอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้าได้
ในรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมาสศช.ได้ระบุในรายงานว่าตั้งแต่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของสหรัฐฯในไตรมาสที่1 ที่ผ่านมาสูงขึ้นถึง 8% สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้เฟดมีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรก ในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่การปรับลงในเดือนมีนาคม 2563 เป็นช่วง 0.25 -0.50 จากเดิมอยู่ในช่วงร้อยละ 0.00 -0.25% และมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายในเดือน มิ.ย.ในระดับ 0.75% เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังส่งสัญญาณที่จะเริ่มปรับลดการถือครองพันธบัตร รัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนองในระยะต่อไปด้วยซึ่งยังต้องจับตาว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป เนื่องจากการปรับดอกเบี้ยขึ้นสูงอาจเป็นข้อจำกัดต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางแนวโน้มระดับราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ประเด็นความท้าทายในระยะต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐฯ คือการรักษาสมดุลระหว่าง การลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อและการรักษาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวรุนแรง ต้องจับตาดูว่าจะซอฟต์แลนด์ดิ้งได้หรือไม่ เพราะการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อก็จะเกิดผลกระทบตามมาต่อสภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมได้ และเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หากเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯก็จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทยได้ด้วยจึงต้องเฝ้าระวังเช่นกัน”
ทั้งนี้การรับมือในเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯในทางปฏิบัติประเทศไทยต้องเตรียมการในรูปแบบเดียวกับการรับมือวิกฤติและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นหลายเรื่องในปัจจุบันและอนาคตโดยการพยายามสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกลงในส่วนที่เราสามารถพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศได้
นอกจากนั้นในระยะเวลา 1 – 2 ปีนี้ควรเร่งรัดดึงการลงทุนจากภายนอกตามแผนการสร้างซัพพายเชนในประเทศให้แข็งแรงก่อนที่จะเกิดปัญหาวิกฤติภายนอกที่กระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น เรื่องของการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า
การดึงการลงทุนสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าที่จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบต่อการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จากภายนอกประเทศด้วย