เข้าใจเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยและหน้าที่ของ ธนาคารกลาง | บัณฑิต นิจถาวร
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ0.75 ของธนาคารกลางสหรัฐอาทิตย์ที่แล้ว ตอกย้ำความสำคัญที่ให้กับการแก้เงินเฟ้อ และความพร้อมที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่าที่จะต้องทําเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อลดลง
ชี้ถึงความมุ่งมั่นในการทําหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงความสำคัญของการสื่อสาร และแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อให้การทํานโยบายประสบความสำเร็จ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณต่อเนื่องปีนี้ถึงความจำเป็นที่ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ โดยตลาดการเงินคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกร้อยละ 0.5ในการประชุมเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องจากที่ปรับขึ้นร้อยละ0.5 ในเดือนพฤษภาคม
แต่ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ0.75 ในการประชุมครั้งล่าสุด ตอกยํ้าถึงความพร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วถ้าข้อมูลออกมาแย่กว่าที่คาด
ซึ่ง ข้อมูลที่ทําให้ธนาคารกลางสหรัฐปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นร้อยละ 0.75 แทนที่จะเป็นร้อยละ 0.5 อย่างที่ตลาดการเงินคาด คือ
1. ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือนพฤษภาคมที่ออกมาร้อยละ 8.6 สูงกว่าคาดมาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จากเดือนเมษายน แสดงว่าอัตราเงินเฟ้อได้กลับมาเร่งตัวและยังไม่ผ่านจุดสูงสุด เป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี
โดยราคาเพิ่มขึ้นในทุกประเภทของสินค้าและบริการ นําโดยราคาน้ำมัน ค่าเช่า อาหาร รถมือสอง และเมื่อเงินเฟ้อยังไม่ผ่านจุดสูงสุด แรงกดดันเงินเฟ้อขาขึ้นก็ยังมีอยู่
2. ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในอนาคตคาดการณ์โดยประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งธนาคารกลางให้ความสำคัญกับตัวเลขนี้มาก เพราะถ้าอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์โดยประชาชนขยับสูงขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคก็จะไปในทางนั้น ทําให้อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและแก้ยาก
ซึ่งข้อมูลเงินเฟ้อคาดการณ์วัดโดย Michigan index of consumers' future inflation expectations ที่ออกมาวันศุกร์ก่อนการประชุมสี่วันชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อปีหน้าที่ผู้บริโภคคาดการณ์ได้ขยับขึ้นเป็นร้อยละ 5.4 จาก ร้อยละ 4.2 ปีที่แล้ว
และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ห้าปีข้างหน้าได้ปรับเป็นร้อยละ 3.3 จากร้อย 2.8 ชัดเจนว่าผู้บริโภคมองอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้จะลดลงในระยะยาว
3. คือประมาณการณ์เงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐเองที่ได้ปรับสูงขึ้นตามข้อมูลเงินเฟ้อที่ออกมาล่าสุด ปรับประมาณการณ์เงินเฟ้อปีนี้เป็นร้อยละ 5.2 จากที่ประเมินไว้เดิมที่ร้อยละ 4.3
ขณะเดียวกันก็ปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ลงเป็นร้อยละ1.7 จากเดิมร้อยละ 2.8 คือเงินเฟ้อสูงขึ้นหนึ่งเปอร์เซ็นต์และเศรษฐกิจขยายตัวลดลงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นถึงผลที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะมีต่อเศรษฐกิจ
เห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจ มีผลกระทบและพลวัตระหว่างกันที่แนบแน่นและชัดเจน เป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐศาสตร์ ทําให้ผู้ทํานโยบายการเงินต้องเข้าใจความสัมพันธ์นี้ และมีข้อมูลมากเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ทันเหตุการณ์
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคราวละร้อยละ0.75 ไม่ใช่เรื่องที่ทําบ่อย ครั้งสุดท้ายของสหรัฐก็เมื่อยี่สิบแปดปีที่แล้ว แต่ต้องทําเมื่อจําเป็นแม้จะมีผลกระทบต่อตลาดการเงินมาก และคราวนี้ต้องถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
"เพราะตลาดการเงินทั่วโลกปรับตัวได้ดีต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึงร้อยละ 0.75 คือไม่ตกใจ ไม่ทรุดหนัก หรือผันผวนรุนแรง ชี้ให้เห็นถึงสองประเด็นที่สำคัญมากต่อการทําหน้าที่และการทำนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ"
ประเด็นแรกคือ ความสำคัญของการสื่อสาร ที่ธนาคารกลางสหรัฐสามารถสร้างความเข้าใจต่อตลาดการเงินและประชาชนสหรัฐถึงความสำคัญของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ให้ทิศทางของนโยบายการเงินที่ชัดเจน และสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐจะทำภายใต้สถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐทําได้ดี
เครดิตตรงนี้ต้องยกให้ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐและทีมงาน ทําให้ตลาดการเงินโลกสามารถปรับตัวได้ล่วงหน้า ไม่สะดุดหรือตกรุนแรงเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น เป็นศิลปะการสื่อสารนโยบายที่ยอดเยี่ยม
ประเด็นที่สองคือ แรงสนับสนุนที่ธนาคารกลางได้ทั้งจากภาคธุรกิจ ตลาดการเงิน ประชาชน และฝ่ายการเมืองในการทําหน้าที่ คือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้เงินเฟ้อ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสื่อสารที่ดี โดยเฉพาะต่อฝ่ายการเมือง
เพราะปรกติโดยธรรมชาติ นักการเมืองคือรัฐบาลจะไม่ชอบให้ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพราะห่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งนักการเมืองใช้วัดความสําเร็จของการบริหารเศรษฐกิจซึ่งเป็นการมองโลกที่แคบ
เพราะความสำเร็จของการบริหารเศรษฐกิจหรือประเทศคือการทําให้คนในประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเงินเฟ้อที่สูงหรือของแพงจะทําให้ชีวิตประชาชนลําบาก ทําลายความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนแม้รายได้จะเพิ่มขึ้น
รัฐบาลสหรัฐตระหนักดีในเรื่องนี้ เพราะข้อมูลสํารวจชี้ชัดว่า ประชาชนสหรัฐมองอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นปัญหาเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของประเทศ ที่ต้องแก้ไข จึงพร้อมให้ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้จะมีผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลง คือแก้เงินเฟ้อต้องมาก่อน
ประเด็นเหล่านี้สําคัญและเป็นสิ่งที่ผู้ทำนโยบายต้องเรียนรู้เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดี ทันเวลา และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]