เทียบหุ้นต่อหุ้นกลุ่มเช่าซื้อ “รอด”หรือ”ร่วง” คุมเพดานดอกเบี้ย

เทียบหุ้นต่อหุ้นกลุ่มเช่าซื้อ  “รอด”หรือ”ร่วง” คุมเพดานดอกเบี้ย

หุ้นในกลุ่มเช่าซื้อ หรือ Hire Purchase เตรียมรับปัจจัยลบที่จะเข้ามากดดันธุรกิจ โดยเฉพาะการกำหนดอัตราดอกเบี้ยปล่อยสินเชื่อที่ยืดเยื้อข้ามปีว่าจะเป็นอัตราเท่าไร ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์

        จากก่อนหน้านี้ มีการปรับเกณฑ์ค่าทวงหนี้ และค่าธรรมเนียมเพื่อให้เป็นธรรมกับประชาชน ด้วยโครงสร้างการก่อหนี้ที่สูงของคนไทย และส่วนใหญ่ไปอยู่ในหนี้นอกระบบจนเผชิญการตามทวงหนี้ขาโหด

         ถัดมามีการร่างประกาศควบคุมการเช่าซื้อ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ฉบับ ที่ 2 ของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ในช่วง 3-17 ธ.ค. 2564 และ สคบ. ส่ง เรื่องให้ตั้งทีมวิเคราะห์จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ แบงก์ชาติ  สมาคมธนาคารไทย สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และสมาคมรถจักรยานยนต์ฯ ซึ่งเมื่อเดือนพ.ค.2565 ได้ส่งสรุปแนวทางให้ สคบ. พิจารณา

โดยสาระสำคัญที่เสนอให้ปรับปรุงมีส่วนของความคิดเห็นของ สคบ. ที่ต้องการลดเพดานลงมาที่ 15%  ในทุกสัญญา แต่ในส่วนของเอกชนต้องการแบ่งตามประเภทเช่าซื้อคือ  คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% รถยนต์ใหม่   กลุ่มที่ดอกเบี้ยไม่เกิน 20% เป็นรถยนต์มือสอง  และอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 30% เป็นกลุ่มจักรยานยนต์ใหม่ 

        ท่ามกลางทิศทางนโยบายดอกเบี้ยกำลังไปทางขาขึ้นทำให้กลุ่มไฟแนนซ์มีปัจจัยลบกดดันเพิ่มขึ้นเพราะต้องจัดหาแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยสูง และยังถูกกดันการปล่อยสินเชื่อที่ดอกเบี้ยลดลงตามการประเมินความเสี่ยงของแต่ละราย

         เนื่องจาก สัดส่วนหนี้ค้างชำระ 1-2 งวด (Special Mention Loan: SM) ในไตรมาส 1/2565 ของสินเชื่อเช่าซื้อโดยรวมที่อยู่ในระดับสูงแตะ 12% เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากระดับ 7.4% ณ สิ้นปี  2562    ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในไทย  จึงทำให้กลายเป็นปัจจัยที่มีการถกเถียงในการประชุม

         เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องเพดานเช่าซื้อ รถจักรยานยนต์ เนื่องจากมีบางประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันต้องหารือเพิ่มเติม เนื่องจากมีการเสนอกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ไว้ที่ 15%, รถยนต์มือสอง 20% แต่ส่วนอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยังตกลงกันไม่ได้ เนื่องจากทางคณะกรรมการ สคบ.เสนอให้เก็บ 26% แต่กลุ่มผู้ประกอบการเสนอ 30% ซึ่งจะมีการประชุมรวมกันอีกครั้ง 30 มิ.ย. นี้

       มุมมอง บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์  (ประเทศไทย )  slightly negative ต่อข่าว สคบ. เตรียมเคาะเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ เพราะการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อกลับเป็นประเด็นมาอีกครั้ง จากปัจจุบันที่ไม่มีการกำหนดเพดานดอกเบี้ย 

      นอกจากนี้คาดว่าการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อในช่วง ปลายปี 2564  ถูกยกเลิกไปแล้ว จากกำหนดการเดิมที่ร่างประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ฉบับที่ 2 จะประกาศใช้การกำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ไม่เกิน 15% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วและรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 20% ต่อปี

       เบื้องต้นบริษัทที่มีสินเชื่อเช่าซื้อในกลุ่มประเภทรถดังกล่าว และคิดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเช่า ซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ฉบับที่  2 ได้แก่ SAWAD และ MTC ในกรณี สคบ. กำหนดเพดานดอกเบี้ยตามร่างสัญญาเช่าซื้อฉบับที่ 2

      คาดว่า SAWAD จะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 15-25% และคิดอัตราดอกเบี้ย ประมาณ 30-40% ต่อปี สำหรับ MTC มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อ รถจักรยานยนต์อยู่ที่ 6% และคิดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 22-24% ต่อปี(ข้อมูล 1/65)

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์