กบน. เคาะตรึงดีเซลลิตรละ 35 บาท ที่ประชุมถกเครียดหาช่องดึงเงินโรงกลั่น
กบน. เคาะตรึงราคาดีเซลลิตรละ 35 บาทต่อโดยไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะปรับขึ้นหรือลดลงเมื่อไหร่ แจงดูปัจจัยราคาพลังงาน อัตราเงินชดเชย และฐานะกองทุนน้ำมันประกอบการพิจารณาอีกครั้ง ล่าสุด "กองทุนน้ำมัน" ติดลบแล้วกว่า 1 แสนล้าน
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติคงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละ 35 บาทต่อไป โดยจะปรับขึ้นหรือคงราคาต่อไปอีกถึงเมื่อไหร่นั้น ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้โดยจะพิจารณาจากปัจจัยราคาพลังงาน อัตราเงินชดเชย และฐานะกองทุนน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ในการคงราคาดีเซลไว้ในครั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซลกว่า 66 ล้านลิตรต่อวัน หรือในสัดส่วน 66% จากปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศไทย ซึ่งจนขณะนี้เวลา 19.30 น. กระทรวงพลังงาน ยังคงหารือเพื่อหาข้อสรุปในมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงาน อย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้วว่าจะยุติการประชุม
ทั้งนี้ ฐานะกองทุนบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ พบว่า ณ วันที่ 27 มิ.ย.2565 กองทุนติดลบ 102,586 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 65,202 ล้านบาท เป็นบัญชีก๊าซหุงต้ม LPG (ภาคครัวเรือน) ติดลบ 37,384 ล้านบาท มีเงินฝากเป็นสภาพคล่องของกองทุน 3,310 ล้านบาท โดยกองทุนชดเชยราคาขายปลีกอยู่ที่ลิตรละ 10.91 บาท เพื่อตรึงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท ตามเจตนารมณ์ในการที่จะตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกินเพดานที่ลิตรละ 35 ไปถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 2565 จากราคาจริงจะอยู่ที่ประมาณลิตรละ 45.85 บาท
รายงานข่าวระบุว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 มี.ค.2565 กำหนดให้กองทุนอุดหนุนราคาดีเซลครึ่งหนึ่งและประชาชนรับภาระครึ่งหนึ่ง ที่เพดานราคาไม่เกินลิตรละ 35 บาท แต่ข้อเท็จจริงหากดูราคาตลาดโลกวันนี้จะต้องปรับอีกลิตรละ 2.48 บาท หรือเป็นเกือบลิตรละ 38 บาท ซึ่งหลังจากรัฐบาลให้ตรึงราคาไว้ไม่เกินลิตรละ 35 บาท สิ้นสุดลงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 นี้ โดยมาตรการที่จะดำเนินต่อไปในเดือนก.ค. 2565 จะเป็นอย่างไรนั้นต้องรอเชิงนโยบาย
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายกำลังระดมความคิดเห็นหารือถึงแนวทางดำเนินนโยบายดูแลราคาพลังงานอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองว่ากระทรวงพลังงานจะดำเนินการอย่างไรโดยเฉพาะหลังจากวันที่ 30 มิ.ย. 2565 นี้ไปแล้ว สถานะกองทุนน้ำมันที่ต้องติดลบเกิน 1 แสนล้านบาท อย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งหากยังต้องดูแลราคาเชื้อเพลิงต่อไป จนถึงเดือนก.ย.2565 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยที่ยังไม่มีเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องในระบบเพิ่มเติมแต่อย่างใด